Blog

บทความน่ารู้

เมื่อเจ้าเหมียว...อ้วก

เมื่อเจ้าเหมียวที่เราเลี้ยงไว้นั้นมีอาการอ้วกหรืออาเจียน อาจเกิดได้จากปัญหาเล็ก ๆ เช่น การกินอาหารเร็วเกินไป การกินสิ่งแปลกปลอมเข้าไป หรือการออกกำลังกายมากไปหลังกินอาหาร ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่ไม่น่าวิตกกังวลนัก แต่นอกจากนั้นแล้ว อาการอาเจียนยังอาจบ่งบอกถึงปัญหาอื่น ๆ ที่น่าวิตกกังวลได้เช่นเดียวกัน

อาการอาเจียน (Vomiting) คือการที่อาหารหรือสิ่งที่อยู่ในกระเพาะอาหารเคลื่อนตัวย้อนกลับผ่านทางหลอดอาหารแล้วมาออกทางปาก เป็นอาการที่เกิดจากความผิดปกติ ของระบบทางเดินอาหารโดยตรง อย่างเช่น โรคที่เกี่ยวกับกระเพาะอาหารหรือลำไส้ และอาจเป็นอาการที่เกี่ยวเนื่องมาจากโรคอื่น ๆ เช่น มะเร็ง ไตวาย เบาหวาน หรือการติดเชื้อ เป็นต้น
ทั้งนี้ อาการอาเจียนเกิดได้ทั้งแบบเฉียบพลัน หรือแบบเรื้อรัง (กินระยะเวลายาวนาน 1-2 สัปดาห์) โดยสิ่งที่เราควรเฝ้าระวังในแมวที่มีอาการอาเจียนก็คือ

1. ภาวะร่างกายขาดน้ำ
          อาการเบื่ออาหาร ท้องเสีย น้ำหนักลด การมีเลือดปนออกมากับสิ่งที่อาเจียน ฉะนั้น ถ้าแมวมีอาการอาเจียนหลาย ๆ ครั้ง จึงควรรีบพาไปหาคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและรักษาได้ทันท่วงที

2. สาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการอาเจียน

     สาเหตุที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร
  • ติดเชื้อแบคทีเรียที่ทางเดินอาหาร         
  • การเปลี่ยนอาหาร
  • การกินสิ่งแปลกปลอมเข้าไป เช่น ของเล่น พลาสติก
  • การเกิดลำไส้กลืนกัน
  • การมีพยาธิในทางเดินอาหาร
      สาเหตุอื่น ๆ
  • ไตวาย
  • ตับวาย ถุงน้ำดีอักเสบ
  • โรคเบาหวาน
  • ภาวะมดลูกอักเสบ
  • ผลข้างเคียงจากยา เช่น ยาที่ใช้รักษาเกี่ยวกับมะเร็ง หรือยาปฏิชีวนะบางตัว เช่น เตตราไซคลีน ( Tetracyclines )
  • ตับอ่อนอักเสบ
  • การติดเชื้อไวรัส
  • การได้รับสารพิษ

          การวินิจฉัยสามารถทำได้จากประวัติ เช่น อาหารการกิน การฉีดวัคซีน และการตรวจร่างกายเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การตรวจอุจจาระ (เพื่อหาตัวปรสิต) การเอกซเรย์ช่องท้องทั้งแบบธรรมดา หรือ กลืนแป้งแล้วเอกซเรย์ เพื่อตรวจดูว่ามีการอุดตันทางเดินอาหารหรือมีสิ่งผิดปกติหรือไม่ การอัลตร้าซาวด์ การส่องกล้อง และการผ่าตัดเพื่อสำรวจช่องท้อง เป็นต้น

การรักษา
          1. กำจัดสาเหตุเหนี่ยวนำ เช่น ถ้ามีการเปลี่ยนอาหารก็ให้เปลี่ยนกลับมากินแบบเดิม และไม่ควรให้แมวกินต้นหญ้าหรือพืชใด ๆ

          2. ควรงดอาหาร และน้ำทางการกินจนกว่าอาการอาเจียนจะหยุด เป็นเวลา 12-24 ชั่วโมง แต่ให้น้ำเกลือเข้าทางใต้ผิวหนังหรือเส้นเลือดแทน และเมื่อหยุดอาเจียนแล้ว จึงค่อย ๆ เริ่มให้กินทีละเล็กทีละน้อย

          3. อาการอาเจียนที่เกิดแบบเฉียบพลันและแมวยังคงไม่ซึม เช่น เกิดจากกินอาหารมากเกินไป กินเร็วเกินไป วิ่งเล่นหลังกินอาหารมากไป ให้รักษาตามอาการเท่านั้นก็เพียงพอ เช่น ให้น้ำเกลือเข้าใต้ผิวหนัง ให้ยาแก้อาเจียน แล้วเฝ้าสังเกตอาการต่อเนื่อง

          4. ถ้าแมวมีอาการอาเจียน ร่วมกับอาการปวดท้อง ท้องเสีย เบื่ออาหาร อาจจำเป็นต้องให้น้ำเกลือเข้าทางเส้นเลือดดำ ให้ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อาเจียนและอื่น ๆ ตามเหมาะสม พร้อมทั้งต้องคอยสังเกตอาการต่อเนื่องใน 24 ชั่วโมง และหาสาเหตุที่แท้จริงของการอาเจียนให้ได้เพื่อรักษาต่อไป

บทความอ้างอิง : pet.kapook.com