Blog

บทความน่ารู้

“ หมอจ๋า…อย่าทำหนู ” ว่าด้วยเรื่องอาการกลัวหมอของบรรดาสี่ขา


สัตว์ก็มีความรู้สึกไม่ต่างจากเรา เวลาเรากลัวหมอ กลัวเข็ม ก็ยังยากที่จัดการกับความรู้สึกตัวเองใช่มั้ยคะ...ดังนั้น ลองว่ากลัวแล้ว จะให้หายคงไม่มีทาง หรืออาจจะเป็นไปได้ยาก 
แต่มีวิธีจัดการให้ความกลัวนั้นทุเลา หรือไม่เป็นอุปสรรคต่อการรักษาได้ แต่ต้องเกิดจากการร่วมมือกันของทั้ง 2 ฝ่าย คือ คุณเจ้าของ และสัตวแพทย์ 

คุณเจ้าของต้องเข้าใจสัตว์เลี้ยง 

ประเด็นนี้สำคัญ และเจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องตระหนักเป็นอันดับแรก
หลายครั้งเจ้าของพาหมาแมวมาหาหมอด้วยความหวัง ว่าหมอจะต้องทำได้ทุกอย่าง เช่น สุนัขดุมาก แล้วจับไม่อยู่ ปล่อยให้หมอจัดการ.....แบบนี้เป็นวิธีคิดที่ผิดมาก ๆ

ถ้าสัตว์เลี้ยงของเราเอง ยังจัดการไม่ได้ น่าจะไม่ใช่เรื่องดีแน่ ๆ เพราะถ้าเจ้าของยังทำไม่ได้ คนอื่นแทบไม่มีทางอยู่แล้วค่ะ  เจ้าของต้องรู้จักสัตว์เลี้ยงของตัวเอง และมีวิธีการมาก่อน เช่น บางคนรู้ว่าสุนัขตัวเองดุ และอาจจะเอาไม่อยู่เวลาเจอหมอ ก็จะใส่ปากเป็ดรัดปากมาจากบ้านเลย  บางตัวเจ้าของรู้ว่าเจอหน้าหมอไม่ได้ ก็จะอุ้มแล้วหันหลังให้หมออย่างเดียว ไม่ให้เห็นกัน หรือบางตัวต้องนั่งบนตักเจ้าของเท่านั้น เราจะจัดพื้นที่ให้เหมาะสม

แต่ละคนจะมีเทคนิคในการคอนโทรลสัตว์เลี้ยงของตัวเอง ซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จ ขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยของสัตว์แต่ละตัว ที่เจ้าของควรจะต้องทราบ หน้าที่ของหมอคือ เล่นตามน้ำ ให้เร็วและแม่นยำที่สุด 

ในขณะที่เจ้าของกำลังปลอบประโลม ด้วยการลูบหัว ลูบคาง ให้ใจเย็น ๆ หมอก็จะมีวิธีสื่อสารและจัดการรักษาที่ชักช้าไม่ได้  แต่ถ้าพยายามจิ้มเข็ม 2 ครั้งแล้วไม่ได้ ต้องเลิกไปก่อน เพื่อไม่ให้เค้ามีประสบการณ์ที่เลวร้ายเกินไปในการมาหาหมอ    

รู้ว่า “ อะไร ” ที่ไวต่อความรู้สึกกลัว  

ประสบการณ์ครั้งแรกที่พวกเขามาคลินิกหรือโรงพยาบาล คือตัวกำหนดความกลัวในครั้งต่อไป เช่น ก่อนที่จะสลบไป จำได้ว่าหมอคนนี้ทำให้เราเจ็บ(การฉีดยา)  หรือครั้งที่แล้วเรายังมี ‘ไข่‘ แต่พอออกมาจากที่นี่ไข่หายไปแล้วและเจ็บด้วย 
โดยเฉพาะแมว จะเคืองเป็นพิเศษ แบบนี้ก็ย่อมจะกลัวมากกว่าสัตว์ที่แค่มาตรวจสุขภาพกลับไปแบบไม่เจ็บตัว 
การมาหาหมอครั้งต่อไป ก็อาจจะสร้างความปวดหัวให้คุณเจ้าของบ้างเล็กน้อยถึงมาก แล้วแต่เคส

ทำไมหมาแมวถึงรู้ว่าล่ะ ว่านี่คือคลินิก
1.  อย่างแรกคือ “ เสียง ” บางคนคิดไปว่าพอเห็นคลินิกแล้วจำได้ 
การมองของสัตว์เลี้ยงนั้นอาจเป็นเรื่องรอง แท้จริงแล้วน่าจะเป็นเรื่องเสียงมากกว่า เพราะหมาแมวมองเห็นทุกอย่างเป็นขาวดำ  แต่ไวกับเสียงมาก หากสังเกตดี ๆ คลินิกแต่ละแห่งจะมีเสียงเปิดประตูไม่เหมือนกันแค่ดังกรุ๊งกริ๊งทีเดียว พวกเขาก็จำได้แล้วว่า “ ที่นี่ที่ไหน ” 

2.  อย่างที่สอง ‘กลิ่น’ แต่ละที่มีกลิ่นเฉพาะของสถานที่นั้น ซึ่งหมาแมวจะมีประสาทสัมผัสรับกลิ่นดีมาก คลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ก็มีกลิ่นเฉพาะ ที่เขาจำได้ ว่ากลิ่นแบบนี้เคยมาแล้วโดนฉีดยา ไหนจะกลิ่นของหมาแมวตัวอื่น ซึ่งเค้าจะไม่ชอบและรู้สึกหวาดระแวง ว่าอาจจะไม่ปลอดภัย 

3.  อย่างที่สาม ‘ความสามารถในการจดจำ’ สุนัขเป็นสัตว์ที่มีความสามารถในการจดจำเส้นทาง และจุดหมายปลายทางได้เก่ง ดังนั้นจึงไม่แปลก ที่สุนัขบางตัวถึงหนีออกจากบ้านบ่อย ๆ  หรือจำสถานที่ฝังใจได้
ดังนั้น ถ้าบอกว่าหมาแมวเห็นหน้าหมอแล้วกลัว อาจจะไม่ใช่ แต่พวกเขาน่าจะจำทางได้ ได้ยินเสียงหมอคุยกับเจ้าของ หรือได้กลิ่นหมอมากกว่าเรียกว่า ยังไม่ต้องเห็นหน้า “แค่ได้ยินเสียงหนูก็เครียดแล้วค่ะหมอ”

กลัวจริง หรือ ‘เล่นใหญ่’ หมอดูออก 
หมาแมวเป็นสัตว์ที่ฉลาดมาก และบ่อยครั้งที่หมอพบกับแมวตุ๊กตาทอง ที่เล่นใหญ่น้ำลายฟูมปากเมื่อต้องเผชิญหน้ากัน จนเจ้าของตกอกตกใจมาเยอะ สำหรับหมอที่มีประสบการณ์มานาน ๆ จะดูออกว่า ‘กลัวจริง’ หรือ ‘เล่นใหญ่’  มีไม่น้อยที่ทำช็อกน้ำลายฟูมปาก แต่พอออกจากคลินิกแล้ววิ่งเล่นได้เป็นปกติ  ถามว่าแบบนี้เค้ากลัวจริงไหม แล้วทำน้ำลายฟูมปากได้ยังไง  คำตอบคือน่าจะกลัวจริง (แต่แอคติ้งก็ประมาณหนึ่ง) คือเวลาที่แมวตื่นเต้นมาก ๆ น้ำลายอาจจะไหลออกมามากกว่าปกติอยู่แล้ว และอาจจะไหลไม่หยุดได้ เหมือนเป็นอาการเครียดของพวกเขา 
อันตรายจริง ๆ ของการกลัวหมอ คือการเตลิดหนี 

ถ้าเราควบคุมให้เค้าอยู่นิ่งไม่ได้ ข้อเสียที่พบได้บ่อย ๆ คือ การวิ่งเตลิดออกไปนอกคลินิกหรือโรงพยาบาล แล้วถูกรถชนเสียชีวิต หรือในกรณีของแมว บางตัววิ่งออกนอกคลินิก หนีหายไป กลายเป็นแมวจรไปเลยก็มี  
ดังนั้นสิ่งที่เจ้าของต้องพึงตระหนักทุกครั้งคือ เราเข้าใจธรรมชาติของสัตว์เลี้ยงเราดีพอหรือยัง  อาการกลัวหมอไม่ใช่เรื่องน่ากังวล  หมอและเจ้าของช่วยกันจัดการได้ ขอเพียงแค่ต้องเข้าอกเข้าใจกันทั้ง 3 ฝ่ายเท่านั้นค่ะ 

บทความจาก : https://becommon.co