Blog

บทความน่ารู้

โรคผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อในสุนัข และเเมว

สวัสดีลูกเพจของ Yippee Happy ทุกท่านครับ
บทความนี้ชายหมอ (หมา) จะเขียนถึงโรคผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อในสุนัข และแมว 

การติดเชื้อที่ผิวหนังของสุนัข และแมวมีอาการอย่างไร เเละควรดูและรักษาอย่างไร อาจจะดูเป็นวิชาการนิดนึงนะครับ แต่มันมีความสำคัญมากทั้งต่อการรักษา และการดูแลของเจ้าของ
 

โรคผิวหนังจากการติดเชื้อในสุนัข และแมว คืออะไร ? เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

โรคผิวหนังจากการติดเชื้อในสุนัข และแมว เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในทางสัตวแพทย์ โดยโรคผิวหนังที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการติดเชื้อเป็นสาเหตุหลัก หรือ อาจเป็นปัญหาแทรกซ้อนจากโรคอื่น ๆ เช่น ภาวะสุขภาพผิวหนังที่ผิดปกติ ภาวะความผิดปกติของฮอร์โมน โรคภูมิแพ้ หรือโรคทางภูมิคุ้มกันอื่น ๆ รวมถึงสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งชายหมอ(หมา) มักเน้นกับเจ้าของสัตว์ป่วยเสมอ ๆ ก็คือ พฤติกรรมของสัตว์เอง ที่มักเกาอย่างรุนแรงในบริเวณรอยโรคที่มีอาการคัน (Self-trauma) จากรอยโรคเล็กน้อย จนลุกลามกลายเป็นแผลขนาดใหญ่ขึ้น ลึกขึ้น และมีการติดเชื้อแทรกซ้อนตามมา


เชื้อที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังมีอะไรบ้าง ?

เชื้อที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังในสุนัข และแมวนั้นมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน 

  • เชื่อแบคทีเรีย (Bacteria)
  • เชื้อรา 
  • เชื้อปรสิต

เมื่อติดเชื้อทั้ง 3 ชนิดนี้ จะมีอาการอย่างไร เเละจะป้องกันดูเเลอย่างไร ชายหมอ จะอธิบายให้อย่างละเอียดนะครับ

 

โรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย ในสุนัข เเละเเมว
( Bacterial skin diseases in dogs and cats)

 

กลุ่มเชื้อแบคทีเรีย (Bacteria)

 

 

กลุ่มแบคทีเรีย เชื้อที่ก่อโรคส่วนใหญ่มักเป็นเชื้อที่พบอยู่บนตัวสัตว์เลี้ยง หรือที่เรียกว่า “ Resident flora ” และเชื้อที่พบได้ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวสัตว์ เช่น วัสดุรองนอน เสื้อผ้า ของใช้ ที่พบได้บ่อย ได้แก่ เชื้อ Staphylococcus pseudintermedius, coagulase-negative staphylococci, streptococci, Micrococcus sp, Acinetobacter sp, Bacillus sp, Corynebacterium sp, Escherichia coli, Proteus mirabilis, and Pseudomonas sp. 

ส่วนในแมว ที่พบบ่อยได้แก่ กลุ่ม Staphylococcus spp, coagulase-negative staphylococci, Acinetobacter sp, Micrococcus sp, α-hemolytic streptococci, Bacillus sp, Escherichia coli, Proteus mirabilis, Pseudomonas sp, and α -hemolytic streptococci. นอกจากนี้ยังรวมถึงเชื้อ Pasturella multocida ที่พบได้บ่อยในช่องปากของแมวทั่วไป เห็นชื่อวิทยาศาตร์ยาก ๆ แบบนี้ หลายท่านคงเอามือกุมขมับ ปวดหัว อ่านไม่เข้าใจ...เจ้าของสัตว์เลี้ยงจำเป็นต้องรู้ขนาดนี้เลยเหรอ คำตอบคือ ไม่จำเป็นครับ ชื่อเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้มีความสำคัญสำหรับสัตวแพทย์ในการเลือกกลุ่มยาที่จะใช้รักษาน้องหมา หรือน้องแมวของพวกเราในเวลาที่ป่วย ให้ครอบคลุมกลุ่มเชื้อที่อาจเป็นสาเหตุการก่อโรคได้ ส่วนเจ้าของสัตว์ รู้ไว้แค่ว่าเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ ไม่ได้มาจากที่ไหนไกลเลย แต่มันอยู่บนผิวหนังของน้องหมาน้องแมวอยู่แล้ว รวมถึงเชื้อโรคที่อยู่ในช่องปาก ตลอดจนเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่กับของใช้ส่วนตัว เช่น วัสดุรองนอน เสื้อผ้า ชามอาหาร และของใช้อื่น ๆ นั่นเอง เชื้อแบคทีเรียที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ โดยทั่วไป หากน้องหมา หรือน้องแมวของเราแข็งแรงดี มักจะไม่ได้ก่อปัญหาอะไรครับ เมื่อใดที่มีปัจจัยอื่นโน้มนำ เช่น การระคายเคือง ภาวะภูมิแพ้ การคัน และเกาจนเป็นแผล เชื้อเหล่านี้ก็จะกลายร่างเป็นตัวร้ายทันที ก่อให้เกิดปัญหาการติดเชื้อที่รุนแรงตามมาได้นั่นเองครับ
 

โรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียมีอาการอย่างไร ?

อาการของโรคผิวหนังจากการติดเชื้อแบคทีเรียนั้น จะแตกต่างกันไปตามสาเหตุของโรค แต่โดยทั่วไปจะพบอาการคัน ผิวหนังแดง บวม มีตุ่มหนอง หรือผื่นขึ้นที่ผิวหนัง ขนร่วง รวมถึงอาจมีแผลลึกจากการเกา มีสะเก็ดแผล หรือน้ำเหลืองเกาะที่ผิวหนัง 


ถ้าน้องหมา น้องแมวเป็นโรคผิวหนังจากเชื้อแบคทีเรียแล้ว ต้องทำอย่างไร ?

เมื่อสงสัยว่าน้องหมา หรือน้องแมวของเราจะติดเชื้อแบคทีเรียทีผิวหนัง จำเป็นจะต้องพาไปพบสัตวแพทย์นะครับ ในส่วนของการวินิจฉัย และการรักษานั้น สัตวแพทย์จะดูจากลักษณะของรอยโรค ร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การขูดผิวหนัง เก็บตัวอย่างรอยโรคมาย้อมสีแล้วส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ และการเก็บตัวอย่างเชื้อเพื่อส่งจำแนกชนิดของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ และความไวต่อยาปฏิชีวนะ (Bacteria culture and sensitivity test) เมื่อวินิจฉัยยืนยันแล้วว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียจริง การรักษาสามารถทำได้โดยการให้ยาที่เหมาะสม โดยในรายที่รุนแรงไม่มาก อาจใช้เป็นยาทาเฉพาะที่ (Topical antibiotic) หรือแชมพู ส่วนในรายที่เป็นรุนแรงทั่วตัว จำเป็นต้องได้รับยากิน โดยต้องเลือกยาปฏิชีวินะที่เหมาะสม กินติดต่อกันเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 - 4 สัปดาห์ บางโรคอาจให้ยานานกว่านี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสัตวแพทย์เจ้าของไข้นะครับ

 

 

โรคผิวหนังจากการติดเชื้อรา ในสุนัข เเละเเมว

โรคผิวหนังจากการติดเชื้อรามีอะไรบ้าง ?
 เชื้อโรคในกลุ่มนี้สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ นะครับ ได้แก่ 
  • กลุ่มเชื้อยีสต์ (Yeast ) 
  • เชื้อกลาก (Dermatophyte หรือ Ring worm)
เรามาทำความรู้จักทีละตัวครับ…..
 

กลุ่มเชื้อยีสต์

 
 

กลุ่มเชื้อยีสต์ที่ชายหมอ (หมา) หมายถึงนี้ เป็นคนละตัวกับที่เอาไว้หมักขนมปังนะครับ กินไม่ได้นะ ที่พบบ่อยส่วนใหญ่เป็นเชื้อที่มีอยู่แล้วตามผิวหนังของสุนัข และแมว ปกติมักก่อโรคโดยเป็นเชื้อฉวยโอกาสในกรณีที่มีปัญหาผิวหนังอื่นอยู่แล้ว เช่นโรคภูมิแพ้ (Allergy) หรือภาวะที่ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำลง เช่น โรคความผิดปกติของฮอร์โมน หรือความผิดปกติทางภูมิคุ้มกันอื่น ๆ เป็นต้น โดยเชื้อที่เป็นปัญหาในการก่อโรคที่พบได้บ่อย ๆ คือ Malassezia pachydermatis อีกกลุ่มที่สามารถพบได้ แต่ไม่บ่อยเท่า คือ Candida spp. 


อาการของโรคผิวหนังจากการติดเชื้อยีสต์เป็นอย่างไร ?

อาการของสุนัขและแมวที่ติดเชื้อยีสต์นั้นไม่ได้จำเพาะ แต่โดยทั่วไปจะพบอาการคัน ผิวหนังอักเสบแดง ขนร่วงมีสะเก็ดรังแค ในบางตัวรอยโรคอาจเยิ้มมีสะเก็ดแผล ในรายที่เป็นเรื้อรังอาจพบผิวหนังบริเวณที่เป็นโรคมีสีเข้มขึ้น ( Hyperpigmentation ), หนาตัวขึ้น ( Hyperkeratosis ) หรือมีลักษณะเป็นผื่นหนา และแข็งตัว ( Lichenification ) นอกจากจะก่อโรคในสัตว์เลี้ยงแล้ว ในต่างประเทศยังมีรายงานว่า เชื้อ Malassezia Pachydermatis สามารถติดต่อสู่คนได้โดยการปนเปื้อนจากสัมผัสของผู้ที่คลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง แม้อัตราการติดเชื้อจะไม่มาก แต่พบว่าก่อให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบแบบ “ แกรนูโลมา” ( Granulomatous inflammation ) ในผู้ใหญ่ และยังเชื่อว่าอาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในเด็กทารก ซึ่งเชื้อสามารถปนเปื้อนมากับผู้ดูแลเด็กทารก ที่เล่นกับสุนัขที่มีสุขภาพดีที่บ้าน 
 

ถ้าน้องหมาน้องแมวติดเชื้อยีสต์ต้องรักษาอย่างไร ?

การวินิจฉัย สัตวแพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ดูลักษณะรอยโรค และทำการขูดผิวหนัง และทำ Scotch tape technique เพื่อตรวจหาเชื้อโดยการส่องกล้องจุลทรรศน์ ในส่วนการรักษานิยมใช้ร่วมกันระหว่างการใช้ยาต้านเชื้อราชนิดกิน และแชมพูยา ในสัตว์ป่วยบางตัวอาจจำเป็นต้องเสริมสารอาหารที่ช่วยฟื้นฟูสุขภาพผิวหนังด้วยครับ 
 


กลุ่มเชื้อกลาก

 
 

เชื้อกลาก ฟังชื่อแล้วอาจจะคุ้นเคยกันไม่มากก็น้อย หลายท่านอาจมีประสบการณ์ตรงเคยเป็นโรคนี้มาก่อนแน่ ๆ ในสุนัข และแมวเองก็พบโรคนี้ได้บ่อยเช่นกัน โดยในสุนัข และแมวนั้นส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเชื้อ Microsporum canis นอกจากนั้นยังอาจเกิดได้จากเชื้อ Trichophyton spp. และ Microsporum gypseum
 

อาการของโรคกลากในน้องหมาน้องแมว เป็นอย่างไร ?

อาการของโรคก็ตามชื่อเลยครับ มันก็คือ Ring worm นั่นเอง มักจะพบรอยโรคที่ผิวหนังเป็นวง ๆ ดวง ๆ ขนร่วง ขนเปราะหักง่าย มีสะเก็ดปกคลุม คัน รอยโรคโดยมากมักพบที่หัว ใบหู สามารถพบได้ตามตัวด้วย
.
โรคกลากในน้องหมาน้องแมว วินิจฉัยยังไง รักษาด้วยการทายาเหมือนในคนไหม
การวินิจฉัย แน่นอนครับ ดูจากรอยโรคบนตัวสัตว์เป็นหลัก เพราะมีลักษณะค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์มาก ๆ ไม่เหมือนใคร และพิเศษสุด ชายหมอ(หมา) ทำบ่อยมาก คือ ขอดูรอยโรคบนตัวเจ้าของด้วย จากประสบการณ์แล้ว เรามักจะพบรอยโรคคล้าย ๆ กันบนแขน หรือร่างกายของเจ้าของสัตว์ป่วยที่เลี้ยงแบบคลุกคลี สนิทสนมกับสัตว์เลี้ยงครับ โดยเฉพาะในแมว เจอบ่อยมาก ดังนั้นต้องจำไว้นะครับว่าโรคนี้สามารถติดต่อจากสัตว์เลี้ยงไปสู่คนได้เช่นกัน นอกจากดูรอยโรคด้วยตาเปล่าแล้ว ยังมีการตรวจโดยใช้การส่องไฟ Wood’s lamp รวมถึงยังต้องยืนยันด้วยการเก็บตัวอย่างรอยโรคไปตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ และเก็บตัวอย่างขน หรือผิวหนังเพื่อนำไปเพาะเชื้อ หาเชื้อที่เป็นสาเหตุหลัก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันโรคด้วยการให้วัคซีนต่อไปครับ

การรักษา มีทั้งการใช้ยาทาภายนอกในกรณีที่เป็นไม่มาก นิยมใช้ในสุนัขเป็นหลัก ส่วนในแมวมีหลายรายงานที่บ่งชี้ว่าการใช้ยาทาภายนอกไม่ค่อยได้ผล จำเป็นต้องใช้ยากินในกลุ่มยาต้านเชื้อรา รวมถึงในบางกรณีที่เจ้าของสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายไหว ยังมีการทำวัคซีนเพื่อป้องกันโรคดังกล่าวอีกด้วย และนอกจากนี้ จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นโรคผิวหนังจากเชื้อราส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับสุขภาพผิวหนังและระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้นนอกจากรักษาที่ตัวเชื้อที่เป็นสาเหตุแล้ว ควรดูแล หรือบำรุงสุขภาพผิวหนังและภูมิคุ้มกันของสัตว์เลี้ยงไปพร้อม ๆ กันด้วยครับโรคผิวหนังจากการติดเชื้อปรสิต ในสุนัข เเละเเมว
เชื้อปรสิตที่ชายหมอ(หมา) จะพูดถึงในตอนนี้ไม่ใช่กลุ่มพยาธิในลำไส้นะครับ อย่าเพิ่งเข้าใจกันผิด แม้ว่าจะมีรายงานว่าพวกพยาธิก็สามารถก่อให้เกิดรอยโรคที่ผิวหนังได้เช่นกัน ซึ่งปรสิตที่ชายหมอ(หมา)จะพูดถึงนี้ บางตำราอาจจะจัดกลุ่มพวกนี้ว่าเป็นกลุ่มของแมลงก็แล้วแต่จะจัดกันไปครับ แต่ชายหมอ(หมา) ขอเรียกพวกมันว่าแมลงปรสิตนะครับ ได้แก่ เห็บ หมัด และ ไร นั่นเอง 

 

ปรสิต (เห็บ และหมัด)
ทำให้เกิดโรคผิวหนังได้อย่างไร ?

 



เห็บ...  

สิ่งมีชีวิตหน้าตาน่ารัก ตัวอ้วนกลมหลังจากดูดเลือดจากน้องหมาของเราจนเต็มอิ่ม แม้เราจะไม่รักมันเท่าไหร่ แต่เราก็มักจะพบมันบนตัวน้องหมาได้บ่อยมาก จนบางครั้งเป็นปัญหาใหญ่ตามมา เพราะตัวมันเองไม่ได้ใช่แค่ขอบริจาคเลือดจากน้องหมาเราอย่างเดียว พวกมันยังใจดีปล่อยเชื้อโรคที่เรียกว่าพยาธิเม็ดเลือด (Blood parasite) ให้น้องหมาเราอีกด้วย ใจดีเกินไปแล้ว แต่ในบทความนี้ชายหมอ(หมา) จะไม่ได้ลงรายละเอียดโรคพวกนี้นะครับ จะพูดถึงแต่ในแง่ของโรคผิวหนังเท่านั้นn เห็บสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยในสุนัขบ้านเรา คือ เห็บชนิด Rhipicephalus sanguineus (สามารถพบในแมวได้เช่นกัน) มักมีรูปร่างที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับระยะการเจริญเติบโตของมัน เห็บเหล่านี้ตั้งแต่ระยะตัวอ่อน จนถึงตัวเต็มวัยจะขึ้นมาดูดเลือดบนตัวสัตว์เลี้ยงก่อให้เกิดความรำคาญ และอาการคัน ยังไม่พอครับในน้องหมาบางตัวจะมีอาการแพ้น้ำลายเห็บได้ด้วยทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนังตามมา และแน่นอนครับ พอคันปุ๊บ น้องหมาน้องแมว ก็จะเกาอย่างรุนแรง ทำให้สุขภาพผิวหนังเสียไป จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้

 

หมัด...

อันนี้ก็คุ้นหน้าคุ้นตากันดีครับ เป็นแมลงปรสิตที่พบได้บ่อยเช่นกันทั้งในน้องหมา และน้องแมวของพวกเรา มีความสามารถพิเศษสามารถกระโดดได้ไกลไม่แพ้นักกีฬาโอลิมปิกเลยทีเดียว หมัดที่พบบ่อย คือ หมัดสุนัข (Ctenocephalides canis) และ  หมัดแมว (Ctenocephalides felis) แต่ไม่ได้แปลว่าหมัดน้องหมาจะกัดแค่น้องหมานะครับ กัดน้องแมวได้ด้วย คน ก็ไม่เว้น หมัดน้องแมวก็ทำตัวเช่นกันครับ การที่สัตว์เลี้ยงโดนหมัดกัดนั้น นอกจากจะสูญเสียเลือด และเสี่ยงต่อการติดโรคพยาธิบางตัว เช่น พยาธิตัวตืดแล้วนั้น ในด้านผิวหนังเองก็เกิดความผิดปกติเช่นกัน โดยสัตว์เลี้ยงบางตัวอาจแพ้โปรตีนจากน้ำลายของหมัด (Flea allergy dermatitis) ซึ่งจะทำให้สัตว์เลี้ยงเหล่านั้นเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ ผิวหนังอักเสบ ขนร่วง คัน โดยเฉพาะบริเวณช่วงท้ายของลำตัว และเสี่ยงต่อการติดเชื้ออื่นแทรกซ้อนได้

 

โรคผิวหนังที่เกิดจากเห็บ และหมัดรักษาได้อย่างไร ?

การรักษาโรคผิวหนังที่มีสาเหตุมาจากเห็บ และหมัดนี้ ทำได้โดยการกำจัดเห็บ และหมัดให้หมดไปจากสัตว์เลี้ยงของเรา โดยในปัจจุบันมียาป้องกันให้เลือกใช้ทั้งแบบยาใช้ภายนอก เช่น แบบหยดหลัง หรือยากิน รวมไปถึงยาฉีดอีกด้วย นอกจากนี้ในสัตว์บางตัวอาจจำเป็นต้องได้รับยารักษาอาการคัน หรืออาการติดเชื้อแทรกซ้อนอื่น ๆ ด้วย

มีปรสิตชนิดอื่นอีกไหมที่ทำให้เกิดโรคผิวหนัง

กลุ่มเชื้อสุดท้ายที่ชายหมอ (หมา) จะพูดถึงก็คือ กลุ่มตัวไร หรือ Mites ตัวไรที่พบได้บ่อย มี 2 กลุ่มด้วยกัน คือ 

  • ไรขี้เรื้อน พบในสุนัขเป็นหลัก
  • ไรในหู พบได้ทั้งสุนัข และแมวครับ

ไรขี้เรื้อนที่ก่อโรคในสุนัขแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ

 โรคขี้เรื้อนแห้ง (Scabies) เกิดจากเชื้อที่ชื่อว่า Sarcoptes scabiei ทำให้เกิดอาการคัน ขนร่วง มีสะเก็ดหนาตามหู ข้อศอก ข้อเท้า และพบการติดเชื้อแทรกซ้อนจากการเกา นอกจากนี้ขี้เรื้อนแห้งยังสามารถติดต่อจากสัตว์ป่วยไปยังสัตว์อีกตัวได้ง่ายจากการสัมผัส และมีรายงานว่าสามารถติดต่อยังคนได้โดยทำให้เกิดผื่นแดง คัน แต่อาการไม่รุนแรง

โรคขี้เรื้อนเปียก (Demodecosis) เกิดจากเชื้อที่ชื่อว่า Demodex canis หรือกลุ่ม Demodex spp. เป็นเชื้อที่พบได้ปกติบนผิวหนังของสุนัข แต่เมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายสัตว์ลดลง จะทำให้เกิดอาการผิวหนังแดง คันและเกา มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน มีตุ่มหนอง ผิวหนังเยิ้ม แฉะ มีเลือดออก มีกลิ่นตัว และเกิดรูขุมขนอักเสบ (Folliculitis) เนื่องจากโรคขี้เรื้อนเปียกนี้มีความเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน จึงไม่ถือเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์โดยตรง
 

ถ้าน้องหมา เป็นขี้เรื้อนต้องทำอย่างไร ?

การวินิจฉัยโรคไรขี้เรื้อนนั้น สัตวแพทย์จะทำการขูดตรวจผิวหนังด้วยใบมีดเพื่อไปส่องตรวจหาตัวไรภายใต้กล้องจุลทรรศน์ โดยในรายที่สงสัยขี้เรื้อนเปียกจะต้องขูดจนกระทั่งเลือดออกซิบๆ (deep skin scrapings) เพื่อให้ถึงรูขุมขน หรือทำการตัดชิ้นเนื้อผิวหนังไปตรวจ (biopsy) 

เมื่อมีการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไรขี้เรื้อนแล้ว การรักษาจะขึ้นกับชนิดของโรค โดยไรขี้เรื้อนแห้งโดยการใช้ยาฆ่าตัวไรชนิดหยดเดือนละ 1-2 ครั้ง หรือใช้ยาฆ่าตัวไรชนิดฉีดทุก 2 สัปดาห์ ติดต่อกัน 2-3 ครั้ง ส่วนไรขี้เรื้อนเปียกนั้น การเลือกวิธีรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและการรกะจายของโรค ถ้าไม่รุนแรง เป็นแค่เฉพาะตำแหน่งอาจพิจารณาใช้ยาหยด หรือยาทาภายนอก หรือยาฆ่าตัวไรชนิดฉีด แล้แต่หากรอยโรคมีการกระจายทั่วตัว จำเป็นต้องได้รับยาฆ่าตัวไรโดยการกินซึ่งมีหลายกหลายชนิดและราคาแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของสัตวแพทย์เจ้าของไข้ นอกจากนี้ยังอาจจำเป็นต้องได้รับยาอื่นๆเพื่อนรักษาอาการคันและการติดเชื้ออื่นแทรกซ้อนด้วย


นอกจากไรขี้เรื้อน ยังมีไรชนิดอื่นอีกไหม ?

ที่นี้มาถึงไรในหู (Ear mites) กันบ้างครับ ชนิดที่พบบ่อยก็คือ Otodectes cynotis สามารถก่อโรคได้ทั้งในสุนัข และแมวครับ สามารถติดต่อกันได้ง่ายในสัตว์เลี้ยงที่มีการสัมผัสหรือคลุกคลีกัน ตัวไรในหูดังกล่าวนี้โดยทั่วไปทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า โรคหูชั้นนอกอักเสบ (Otitis externa) มีอาการคือ คันหูรุนแรง มีขี้หูเยอะ ลักษณะขี้หูเป็นก้อน หรือสะเก็ดสีน้ำตาล - ดำในรูหู ในสัตว์เลี้ยงบางตัวจะพบการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราแทรกซ้อนได้ด้วย และถ้าบางรายเป็นรุนแรง จะเกิดการติดเชื้อลุกลามไปยังช่องหูชั้นกลาง และชั้นใน มีอาการทางประสาทเกิดขึ้น เช่น หัวเอียง เดินวน นอกจากนี้ในสุนัขอาจจะคันมาก จนทำให้เกา และสะบัดหูอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการแตกของเส้นเลือด และมีเลือดคั่งในใบหู (Aural hematoma) ได้อีกด้วย
 

ไรในหู รักษาอย่างไร ?

การวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจรอยโรคที่ผิวหนัง และเก็บตัวอย่างของขี้หูไปส่องตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ ส่วนการรักษานั้นต้องทำร่วมกันระหว่างการทำความสะอาดใบหู และช่องหู และใช้ยาหยอดหูเพื่อฆ่าเชื้อไรในหู หรือในบางกรณีอาจเลือกใช้เป็นยาหยดหลังแทนก็ให้ผลการรักษาที่ดีเช่นกัน นอกจากนี้อาจจำเป็นต้องได้รับยารักษาการติดเชื้อแทรกซ้อน และอาการคันร่วมด้วย

บทสรุปของบทความนี้ ชายหมอ(หมา) ไม่ได้ต้องการให้เจ้าของน้องหมา น้องแมวทุกท่าน จำชื่อโรคต่าง ๆ เหล่านี้ได้ แต่อยากให้ตระหนักว่า โรคผิวหนังจากการติดเชื้อในสุนัข และแมวนั้นส่วนใหญ่เป็นโรคแทรกซ้อน หรือโรคติดเชื้อฉวยโอกาสจากการที่น้องหมาน้องแมวของพวกเรานั้น มีสุขภาพผิวหนังที่ไม่ดี ตลอดสุขอนามัยต่าง ๆ ที่ไม่สะอาดพอ 

ดังนั้นเพื่อป้องกันโรคเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้น เราควรต้องดูแลสุขภาพร่างกาย สุขภาพผิวหนัง ตลอดจนความสะอาดของเครื่องใช้ เสื้อผ้า วัสดุรองนอนทั้งหลาย ด้วยน้ำยาซักผ้าสำหรับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ เพียงเท่านี้ พวกเราก็จะมั่นใจได้ว่า น้องหมา น้องแมว ของพวกเราก็จะขนฟู น่ากอด และไม่ป่วยเป็นโรคผิวหนังแน่นอนครับ


บทความโดย
อ. น.สพ. ดร.เศรฐกิตย์ จิตเสนาะ
DVM, Ph.D.(Phatobiology)