Blog

บทความน่ารู้

สายพันธุ์แมวที่นิยมเลี้ยงในไทย

สวัสดีครับคุณผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกับชายหมอ(หมา)และ Yippee Happy อีกแล้ว 
ฉบับนี้ ชายหมอขอเอาใจทาสแมวกันบ้างนะครับ ชายหมอจะมาเเนะนำสายพันธุ์แมว 10 สายพันธุ์ ที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย มีสายพันธุ์อะไรบ้าง มาดูกันเลยครับ


 

แมวเปอร์เซีย (Persian)

ชายหมอ(หมา) มั่นใจว่าไม่มีใครไม่รู้จักน้องแมวตัวนี้ หนึ่งในสายพันธุ์แมวเก่าแก่ที่นิยมเลี้ยงกันมากในบ้านเรา และในปัจจุบันก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ครับ

ลักษณะ
แมวเปอร์เซียจัดเป็นแมวขนาดกลาง ถึงค่อนข้างใหญ่ น้ำหนักโตเต็มที่ตามมาตรฐานสายพันธุ์อยู่ที่ประมาณ 4 - 7 กิโลกรัม ขนยาว สีขนมีมากมายหลายสี ไล่มาตั้งแต่ สีขาวทั้งตัว สีดำ สีน้ำตาล สีครีม สีช็อกโกแลต หรือแม้กระทั่งสีที่ไม่ค่อยได้พบเห็นอย่าง สีม่วงอ่อน (Lilac color) ที่นิยมเลี้ยงในยุคนี้ มักจะมี 2 - 3 สีในตัวเดียวได้แก่ (Flashy Persians) มีใบหน้าที่กลม ตากลมโต จมูกสั้น และแบน ตัวค่อนข้างเตี้ย ขาสั้น กล้ามเนื้อทั่วตัวพัฒนาดี ช่องอกลึก หางไม่ยาวมากนัก หนาและฟู เปอร์เซียเป็นแมวที่นิสัยเรียบร้อย อ่อนโยน ไม่ดุร้าย หรือก้าวร้าว เป็นแมวที่ค่อนข้างเงียบ ไม่ค่อยส่งเสียงร้อง เข้ากับคนได้ง่าย แต่ไม่ค่อยชอบเล่นกับเด็กสักเท่าไหร่ ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ดี ชอบเล่นกับเจ้าของ

การดูแล
การดูแลเลี้ยงดูน้องแมวเปอร์เซีย นอกจากเจ้าของ (จริง ๆ คือทาสนั่นเอง) จะต้องจัดหาอาหารที่เหมาะสม เน้นเรื่องการบำรุงขน อุปกรณ์การเลี้ยงต้องสะอาด และการป้องกันโรคที่เหมาะสม

เรื่องการดูแลขน และผิวหนังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นแมวขนยาว การแปรงขนทุกวันเป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่เช่นนั้น ขนจะเกาะกันเป็นก้อนสังกะตัง เดือดร้อนเจ้าของต้องพาไปตัดสั้น ซึ่งหลายครั้งจะพบว่าน้องแมวจะซึมไปหลายวันเลยก็มีหากโดนตัดขนจนสั้น

การอาบน้ำนั้นก็เป็นสิ่งจำเป็น ควรหัดให้คุ้นชินกับการอาบน้ำตั้งแต่ยังเด็ก จะทำให้อาบได้ง่ายขึ้น นิยมอาบน้ำประมาณ 1 - 2 ครั้ง ต่อเดือนเท่านั้น เพราะน้องแมวเองก็รักความสะอาด มีพฤติกรรมทำความสะอาดตัวเอง (Self-grooming) แต่ด้วยความที่ขนยาว จึงสกปรกได้ง่ายโดยเฉพาะสีขาว อาจจะอาบสัปดาห์ละครั้งก็สามารถทำได้ แต่ต้องเลือกแชมพูที่อ่อนโยน ไม่ทำให้ผิวแห้งจนเกินไป หลังอาบน้ำการเป่าขนให้แห้งก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าอับชื้น จะทำให้เกิดโรคผิวหนังได้ง่าย

ก่อนจะตัดสินใจรับน้องแมวเปอร์เซียมาเลี้ยง มีข้อควรพิจารณาดังนี้
1. ปัญหาเรื่องขน และผิวหนัง เนื่องจากเปอร์เซียมีขนที่ยาวมาก ถือว่าเป็นลักษณะพิเศษของสายพันธุ์เลยก็ว่าได้ ดังนั้นหากเจ้าของไม่มีเวลาดูแล นอกจากจะทำให้ขนเป็นสังกะตัง อาจทำให้เกิดโรคผิวหนังอื่น ๆ และขนร่วงตามมาได้

2. ปัญหาเรื่องระบบทางเดินอาหารอุดตัน เป็นผลมาจากการมีแมวมีพฤติกรรม self-grooming ซึ่งในแมวขนยาว มักจะพบว่าทำให้เกิดภาวะก้อนขนอุดตันในทางเดินอาหาร และภาวะท้องผูกได้

3. ปัญหาเรื่องตา ด้วยลักษณะทางพันธุกรรมที่ตาค่อนข้างกลมโต และโปนออกมานอกเบ้า จึงทำให้เกิดการระคายเคืองได้ง่ายทั้งจากสิ่งแวดล้อม และจากขนที่ร่วงของแมวเอง

4. ปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ ไม่เพียงแต่สุนัขพันธุ์หน้าสั้นเท่านั้น แมวพันธุ์หน้าสั้น จมูกแบน แบบเปอร์เซียเอง ก็มักมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาระบบหายใจได้ง่ายเช่นกัน

5. ปัญหาเรื่องโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ (Hypertrophic Cardiomyopathy) เป็นโรคที่มีแนวโน้มจะพบได้ในแมวเปอร์เซียบ่อยกว่าสายพันธุ์อื่น โดยพบว่าเป็นลักษณะทางพันธุกรรม มักพบในแมวอายุประมาณ 3 ปีขึ้นไป



 

เมนคูน (Maine Coon)

น้องแมวสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่สง่างาม หน้าตาดูเหมือนจะดุ แต่นิสัยค่อนข้างเป็นมิตร

ลักษณะ
แมวสายพันธุ์เมนคูน จัดเป็นหนึ่งในสายพันธุ์แมวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก น้ำหนักโตเต็มที่ตามมาตรฐานสายพันธุ์อยู่ที่ประมาณ 6 - 9 กิโลกรัมสำหรับตัวผู้ และ 5 – 7 กิโลกรัมสำหรับตัวเมีย เคยมีบันทึกไว้ว่าตัวที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีน้ำหนักถึง 15.9 กิโลกรัมเลยทีเดียว (นี่มันเสือขนาดย่อม ๆ เลยนะ) ขนค่อนข้างยาว เรียบเป็นมันเงา โดยขนจะยาวเป็นพิเศษบริเวณแผงคอด้านล่าง ท้อง และช่วงท้ายลำตัว แต่บริเวณหลังจะสั้นกว่า สีขนที่พบได้บ่อย คือ สีน้ำตาล และสีเทาเงิน แซมกับสีขาว นอกจากนี้ยังอาจพบสีครีม หรือสีดำได้ การกระจายของสีขนมีหลายรูปแบบด้วยกัน หางยาว ลักษณะคล้ายไม้กวาด คล้ายแรคคูน (บางความเชื่อบอกว่า เมนคูนพัฒนามาจากแมวป่าผสมกับแรคคูน จึงเป็นที่มาของชื่อ เมนคูน นั่นเอง)  แมวเมนคูนจะมีดวงตาโต รูปร่างกลมค่อนข้างเป็นรูปไข่ ตาสองข้างวางในตำแหน่งเฉียงกันเล็กน้อย หูตั้งและมีขนยาวออกมา เมนคูนเป็นแมวที่ฉลาด มีนิสัยอยากรู้อยากเห็น ชอบทำกิจกรรมรวมกับเจ้าของ ชอบอยู่กับคน (ติดเจ้าของนั่นเอง อ้อนเก่งด้วย) เป็นมิตรกับทั้งคนและสัตว์อื่นแม้แต่สุนัข เข้ากับเด็กได้ดี เป็นแมวที่ค่อนข้างเงียบ ไม่ค่อยส่งเสียงร้อง

การดูแล
การดูแลเลี้ยงดูน้องแมวเมนคูนนั้น นอกจากปัจจัยพื้นฐานเรื่อง อาหาร ของใช้ และการป้องกันโรคที่เหมาะสมแล้วนั้น เรื่องการดูแลเรื่องขน และผิวหนังนั้นไม่ยุ่งยากอย่างที่คิดครับ ด้วยความที่ขนไม่ยาวมาก และค่อนข้างเรียบ เป็นมันเงา ประกอบกับพฤติกรรม self-grooming จึงทำให้ไม่ค่อยเกิดสังกะตังสักเท่าไหร่ หากไม่มีเวลาจริง ๆ อาจสามารถแปรงขนเพียงสัปดาห์ละครั้งก็เพียงพอ แต่ถ้าให้ชายหมอแนะนำ ก็ควรแปรงทุกวัน หรือวันเว้นวันดีกว่าครับ เพราะนอกจากจะทำให้ขนไม่พันกันแล้วยังเป็นการกระตุ้นผิวหนัง ระบายอากาศที่ผิวหนังทำให้ขนเงางามแล้ว ผิวหนังแข็งแรงไม่เป็นโรคง่าย 
การอาบน้ำไม่จำเป็นต้องอาบบ่อยครับ ประมาณ 1 ครั้ง ต่อเดือนก็เพียงพอ ยกเว้นว่าเจ้าของบางท่านเอาน้องแมวนอนกอดแทนหมอนข้าง ก็สามารถอาบได้บ่อยขึ้น แต่ที่สำคัญ คือเลือกแชมพูให้เหมาะสม หลังอาบเสร็จ ต้องเป่าขนให้แห้งเป็นสำคัญ

ก่อนจะตัดสินใจรับน้องแมวเมนคูนมาเลี้ยง มีข้อควรพิจารณาดังนี้
1. ปัญหาเรื่องขน และผิวหนัง แม้จะขนไม่ยาวเท่าเปอร์เซีย และเป็นสังกะตังยากกว่า แต่ถ้าเจ้าของไม่ดูแลเลยก็อาจทำให้มีปัญหาเป็นสังกะตังได้ และด้วยความที่เป็นแมวที่อยากรู้อยากเห็น จึงมักซุกซนไปมุดหรือไปเปื้อนสิ่งสกปรก หรือสิ่งอับชื้นมา ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคผิวหนังได้

2. ปัญหาเรื่องระบบทางเดินอาหารอุดตัน เป็นปัญหาที่มักพบได้จากการมีพฤติกรรม self-grooming ในแมวขนยาว ทำให้เกิดภาวะก้อนขนอุดตันในทางเดินอาหาร และภาวะท้องผูกได้

3. ปัญหากระดูกและข้อต่อ ด้วยความที่เป็นแมวที่มีขนาดใหญ่ และพฤติกรรมค่อนข้างซุกซน หากเจ้าของไม่ดูแลเรื่องน้ำหนักให้เหมาะสม พออายุมากขึ้น จะเสี่ยงต่อภาวะข้อสะโพกเสื่อมได้

4. ปัญหาเรื่องโรคกล้ามเนื้อกระดูกสันหลังฝ่อ (Spinal Muscular Atrophy) เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากลักษณะทางพันธุกรรมของเมนคูนเอง มีผลทำให้การเดินผิดปกติไป แต่มักไม่รุนแรงมาก

5. ปัญหาเรื่องโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ (Hypertrophic Cardiomyopathy) เป็นโรคที่มีแนวโน้มจะพบได้ในน้องเมนคูนบ่อยกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ เช่นกัน เป็นผลมาจากลักษณะทางพันธุกรรม



 

อเมริกัน ช็อตแฮร์ (American Shorthairs)

น้องแมวสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และเป็นที่นิยมไม่แพ้สองสายพันธุ์ก่อนหน้าเลยครับ ชายหมอ(หมา) ชอบเรียกน้องเค้าว่า แมววิสกัส

ลักษณะ
แมวสายพันธุ์อเมริกัน ช็อตแฮร์ จัดเป็นสายพันธุ์แมวขนาดกลาง น้ำหนักโตเต็มที่ตามมาตรฐานสายพันธุ์อยู่ที่ประมาณ 5 - 7 กิโลกรัมสำหรับตัวผู้ และ 3.5 - 5.5 กิโลกรัมสำหรับตัวเมีย เป็นแมวขนสั้น (แน่นอนสิ มันชื่อ ช็อตแฮร์) ขนจะแน่น หนา และแข็ง เป็นมันเงา สีขน และรูปแบบที่พบได้บ่อย และเป็นที่นิยม คือ แบบลาย (Tabby) นอกจากนี้ยังพบแบบสีเดียวล้วน เช่น สีขาว สีน้ำตาล สีเทา แบบสามสี หรือแม้กระทั่งสีที่มีรูปแบบการไล่เฉด (Shaded) แมวอเมริกัน ช็อตแฮร์ หน้าตาใจดี กะโหลกศีรษะ และใบหน้ากว้าง ดวงตารูปไข่ อยู่ห่างกัน กระบอกปากสั้น หูตั้ง เป็นแมวที่นิสัยขี้เล่น เลี้ยงง่าย เงียบ ไม่ค่อยส่งเสียง เข้ากับคนได้ดี เป็นมิตรกับเด็ก ต้องการการเอาใจพอประมาณ ค่อนข้างติดคน และสามารถอยู่ตัวเดียวเป็นเวลานานได้ ฉลาด สนใจสิ่งรอบข้าง ชอบวิ่งเล่น ไล่จับสัตว์ตัวเล็ก เนื่องจากยังมีสัญชาติญาณนักล่าอยู่

การดูแล
การดูแลเลี้ยงดูน้องแมวอเมริกัน ช็อตแฮร์ นั้น นอกจากปัจจัยพื้นฐานเรื่อง อาหาร ของใช้ และการป้องกันโรคที่เหมาะสมแล้วนั้น การดูแลเรื่องขน และผิวหนังไม่ยุ่งยากเลยครับ ด้วยความที่ขนสั้น และค่อนข้างเรียบ เป็นมันเงา จึงไม่ค่อยเกิดสังกะตังสักเท่าไหร่ เจ้าของสามารถแปรงขนเพียงสัปดาห์ละครั้งก็เพียงพอ โดยใช้แปรงที่อ่อนโยน เช่นพวกแปรงขนหมู แปรงยางซิลิโคน แปรงเบา ๆ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดที่ผิวหนัง และจัดแต่งขนให้เป็นทรงก็เพียงพอ การอาบน้ำไม่จำเป็นต้องอาบบ่อย เพียงเดือนละ 1 ครั้งก็เพียงพอ เลือกแชมพูที่อ่อนโยน ไม่แพ้ ไม่ทำให้ผิว และขนแห้งจนเกินไป จากนั่นเป่าให้แห้ง

ก่อนจะตัดสินใจรับน้องแมวอเมริกัน ช็อตแฮร์ มาเลี้ยง มีข้อควรพิจารณาดังนี้
1. ปัญหาโรคหัวใจ น้องแมวอเมริกัน ช็อตแฮร์ เป็นสายพันธุ์ที่สุขภาพค่อนข้างดีมาก แข็งแรง มักไม่ค่อยมีโรคทางพันธุกรรมเหมือนแมวพันธุ์อื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า สายพันธุ์นี้มักปัญหาโรคหัวใจที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้เช่นกัน หากต้องการจะเลี้ยงอาจต้องมีการตรวจสอบประวัติของครอบครัวว่ามีโรคนี้แฝงอยู่หรือไม่



 

 

บริติช ช็อตแฮร์ (British Shorthair)

เจ้าแมวหน้าอ้วนกลม หน้าตาน่ารักปนตลก และหลัง ๆ เริ่มมีบทบาทเป็นตัวแสดงนำในภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่อง

ลักษณะ
บริติช ช็อตแฮร์ จัดเป็นสายพันธุ์แมวขนาดกลางค่อนไปทางใหญ่ น้ำหนักโตเต็มที่ตามมาตรฐานสายพันธุ์อยู่ที่ประมาณ 4.5 - 8 กิโลกรัม เป็นแมวขนสั้น ขนแน่น หนา เป็นมันเงา เรียงตัวกันเป็นระเบียบ สีขน และรูปแบบขนมีหลายชนิด ที่พบได้บ่อย และเป็นที่นิยม คือ แบบสีเดียวล้วน เช่นสีครีม สีเทาควันบุหรี่ นอกจากนี้อีกแบบที่นิยมคือรูปแบบการไล่เฉด (Shaded) แมวบริติช ช็อตแฮร์ เป็นแมวที่มีหน้าตาน่ารักปนตลก ใบหน้าอ้วนกลม ในบางครั้งจะมองเห็นชั้นใต้คางคล้ายเหนียง ดวงตาโต รูปไข่ มีรูปปากที่เหมือนกับยิ้มตลอดเวลา หูตั้ง คอหนา อกกว้าง ตัวค่อนข้างเตี้ย แต่ล่ำ มีกล้ามเนื้อเยอะ นิสัยขี้เล่น มีความเป็นมิตรสูง เข้ากับคนได้ดี เป็นมิตรกับเด็ก เป็นมิตรกับสุนัข ชอบเล่น ต้องการ การเอาใจพอประมาณ ชอบอยู่กับคน ฉลาด มีความจงรักภักดีสูง

การดูแล

การดูแลเลี้ยงดูน้องแมวบริติช ช็อตแฮร์นั้น ต้องดูแลเรื่องอาหารเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นแมวที่โครงสร้างใหญ่แต่ตัวเตี้ย จึงต้องควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป การดูแลขน และผิวหนังนั้นจะคล้ายกับพันธุ์ขนสั้นอื่น ๆ คือขนไม่ค่อยเกิดสังกะตัง แต่ด้วยขนที่แน่นมาก เจ้าของต้องทำการแปรงขนอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง หรืออาจมากกว่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ขนยุ่ง ไม่เป็นทรง และเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดที่ผิวหนัง โดยใช้แปรงที่อ่อนโยน
การอาบน้ำก็เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องอาบบ่อย เพียงเดือนละ 1 ครั้งก็เพียงพอ เลือกแชมพูที่อ่อนโยน จะได้ไม่ทำให้ผิว และขนแห้งจนเกินไป จากนั่นเป่าให้แห้ง ป้องกันการอับชื้น

ก่อนจะตัดสินใจรับน้องแมวบริติช ช็อตแฮร์มาเลี้ยง มีข้อควรพิจารณาดังนี้
1. ปัญหากระดูก และข้อ เนื่องจากเป็นแมวที่มีโครงสร้างกล้ามเนื้อค่อนข้างใหญ่หากไม่ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมจะมีโอกาสเกิดโรคเกี่ยวกับกระดูก และข้อได้ง่าย เช่นโรคข้อสะโพกเคลื่อน เป็นต้น

2. ปัญหาเรื่องโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ (Hypertrophic Cardiomyopathy) ในสายพันธุ์บริติช ช็อตแฮร์ ก็มีการรายงานการเกิดโรคดังกล่าวเช่นกัน เป็นผลมาจากพันธุกรรม



 
 
 

เอ็กโซติก ช็อตแฮร์ (Exotic Shorthair)

น้องแมวสายพันธุ์ที่เป็นตัวแสดงนำในภาพยนตร์ หรือการ์ตูน จะขาดตัวนี้ไม่ได้แน่นอนครับ สายพันธุ์ที่ชายหมอ(หมา) และคนอื่น ๆ เชื่อว่า คือสายพันธุ์ของเจ้าแมวสีส้ม แสนขี้เกียจ ที่ชื่อการ์ฟิลด์นั่นเอง สายพันธุ์ที่กำลังพูดถึงก็คือ เอ็กโซติก ช็อตแฮร์

ลักษณะ
เอ็กโซติก ช็อตแฮร์ จัดเป็นสายพันธุ์แมวขนาดกลาง น้ำหนักโตเต็มที่ตามมาตรฐานสายพันธุ์อยู่ที่ประมาณ 3 - 6 กิโลกรัม เชื่อกันว่า เป็นแมวที่เกิดจากการผสมกันระหว่างแมวเปอร์เซีย และอเมริกัน ช็อตแฮร์
ลักษณะขนสั้นค่อนไปทางยาวเล็กน้อย ขนแน่น หนา นุ่ม เป็นมันเงา สีขนและรูปแบบขนมีหลายชนิด ที่พบได้บ่อยและเป็นที่นิยม คือ แบบสีเดียวล้วน เช่นสีน้ำตาลส้ม สีเทาควันบุหรี่ สี (Chinchilla) นอกจากนี้อีกแบบที่นิยมคือรูปแบบการไล่เฉด (Shaded) และขนรูปแบบ (Tabby)

แมวเอ็กโซติก ช็อตแฮร์ เป็นแมวที่มีหน้าตาตลก ใบหน้าดูคล้าย ๆ หน้าบึ้ง อารมณ์เสียตลอดเวลา ศีรษะและใบหน้าจะกลมใหญ่ หน้าสั้น จมูกแบน ตาโต หูเล็ก คอสั้น และหนา ตัวค่อนข้างอ้วนล่ำ มีกล้ามเนื้อเยอะ นิสัยอ่อนโยน ขี้เล่น มีความเป็นมิตรสูง เข้ากับคนได้ดี เป็นมิตรกับเด็ก ค่อนข้างติดคน และชอบอยู่กับคนตลอดเวลา ฉลาด มีความจงรักภักดีสูง

การดูแล
การดูแลเลี้ยงดูน้องแมวเอ็กโซติก ช็อตแฮร์นั้น แม้ว่าจะมีสายเลือดของเปอร์เซียอยู่ แต่การดูแลนั้นไม่ยุ่งยาก คล้ายกับแมวในกลุ่มขนสั้นทั่ว ๆ ไป คือจัดการเรื่องอาหารให้เหมาะสม ป้องกันไม่ให้อ้วนเกินไป การป้องกันโรคตามความเหมาะสม ส่วนเรื่องขน ไม่ค่อยเกิดสังกะตังสักเท่าไหร่ เจ้าของสามารถแปรงขนเพียงสัปดาห์ละครั้งก็เพียงพอ โดยใช้แปรงที่เหมาะสม แปรงเบา ๆ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดที่ผิวหนัง และจัดแต่งขนให้เป็นทรงการอาบน้ำไม่จำเป็นต้องอาบบ่อย เพียงเดือนละ 1 ครั้ง เลือกแชมพูที่อ่อนโยน ไม่แพ้ ไม่ทำให้ผิว และขนแห้งจนเกินไป จากนั่นเป่าให้แห้ง

ก่อนจะตัดสินใจรับน้องแมว เอ็กโซติก ช็อตแฮร์ มาเลี้ยง มีข้อควรพิจารณาดังนี้
1. ปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ ด้วยความที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากเปอร์เซีย จึงรับเอาพันธุกรรมหน้าสั้น จมูกแบน แบบเปอร์เซียมานั่นเอง ทำให้มักมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาระบบหายใจได้ง่ายเช่นกัน

2. ปัญหาเรื่องตา มักพบว่าในแมวสายพันธุ์นี้มีการทำงานของท่อน้ำตาที่ผิดปกติ มักทำให้เกิดคราบน้ำตาเปื้อนบริเวณใบหน้าได้

3. ปัญหาเรื่องฟัน ด้วยความที่มีใบหน้าที่สั้นมาก จึงมักปัญหาการจัดเรียงตัวของฟันที่ผิดปกติ หากมีความรุนแรงมากอาจส่งผลต่อการกินอาหาร



 

สก็อตติช โฟล์ด (Scottish Fold) 

สายพันธุ์นี้กำลังเป็นที่นิยมในไทย ด้วยหน้าตาที่น่ารัก และหูที่พับลงมาเป็นเอกลักษณ์

ลักษณะ
สก็อตติช โฟล์ด จัดเป็นแมวขนาดกลาง น้ำหนักโตเต็มที่ตามมาตรฐานสายพันธุ์อยู่ที่ประมาณ 4 - 6 กิโลกรัม โดยตัวผู้อาจมีขนาดใหญ่ได้มากกว่านี้ ขนยาวปานกลาง สีขน และรูปแบบมีมากมาย หลากหลาย ตั้งแต่สีเดียวล้วนทั้งตัว เช่น สีขาว สีน้ำตาล สีครีม สีดำ หรือรูปแบบขนที่มีสองสี สามสีบนตัว ขนรูปแบบ (Tabby) และแบบไล่เฉด แมวสก็อตติช โฟล์ด มีใบหน้าที่กลม ตากลมโต ลำตัวอ้วนกลม หางยาวเป็นพู่ และลักษณะพิเศษของสายพันธุ์นี้คือ การมีหูขนาดเล็กที่พับงอไปด้านหน้า ทำให้หน้าตาโดยรวมแล้วดูน่ารัก อ่อนโยน เหมือนตุ๊กตาหมี เจ้าสก็อตติช โฟล์ดเป็นแมวที่ฉลาด ซื่อสัตย์ต่อเจ้าของมาก เข้ากับคนได้ง่าย เป็นมิตรกับสัตว์อื่น เข้ากับเด็กได้ดี ต้องการการเล่น และปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของ ไม่ค่อยซนมากนัก

การดูแล
การดูแลเลี้ยงดูน้องแมวสก็อตติช โฟล์ด ต้องระมัดระวังกันสักหน่อย นอกจากปัจจัยการเลี้ยงขั้นพื้นฐาน อันได้แก่ อาหารที่เหมาะสม อุปกรณ์การเลี้ยงต้องสะอาด การป้องกันโรค และต้องให้ความสำคัญเรื่องการดูแลขน และผิวหนังด้วย เนื่องจากเป็นแมวขนยาวปานกลาง ควรแปรงขนสัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง ไม่เช่นนั้นจะเกิดก้อนสังกะตังขึ้นมา นิยมอาบน้ำประมาณ 1 - 2 ครั้งต่อเดือน และเป่าให้แห้ง

ขั้นตอนพิเศษที่เพิ่มเข้ามา คือการทำความสะอาดใบหู และรูหู เนื่องจากหูพับปิดลงมา จึงต้องทำความสะอาดอย่างพิถีพิถันกว่าสายพันธุ์ที่หูตั้ง และควรทำด้วยความนุ่มนวล เพราะการที่หูของเจ้าสก็อตติช โฟล์ดพับมาด้านหน้านั้นในบางตัวอาจมีการผิดรูปของกระดูกอ่อนใบหูทำให้เกิดความเจ็บปวดได้ง่าย

ก่อนจะตัดสินใจรับน้องแมวสก็อตติช โฟล์ด มาเลี้ยง มีข้อควรพิจารณาดังนี้
1. ปัญหาเรื่องหู และการได้ยิน เนื่องจากสก็อตติช โฟล์ด เป็นแมวที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากแมวที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้มีลักษณะหูพับ ที่ดูแล้วน่ารัก แต่แท้จริงมันคือความผิดปกติ และการผิดรูปของกระดูกอ่อนที่หู นอกจากนี้ยังอาจพบปัญหาทางการได้ยินอีกด้วย

2. ปัญหาเรื่องระบบข้อต่อ ปัญหานี้ก็สืบเนื่องมาจากการที่เป็นแมวที่พัฒนามาจากแมวที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม โดยความผิดปกตินั้นไม่ได้พบเพียงแค่กระดูกอ่อนที่ใบหู แต่ยังสามารถพัฒนาไปเป็นความผิดปกติของข้อต่อในตำแหน่งอื่น ๆ ได้ เช่น ข้อต่อบริเวณหาง ซึ่งปัญหาที่ข้อต่อดังกล่าวทำให้เกิดความเจ็บปวดขึ้นได้

3. ปัญหาเรื่องการเพาะพันธุ์ ด้วยลักษณะทางพันธุกรรมที่ผิดปกติ มีความเชื่อว่าการนำแมวพันธุ์นี้ผสมกันเอง จะยิ่งทำให้ความผิดปกติที่ถ่ายทอดมาสู่รุ่นลูก จึงมีคำแนะนำว่าหากจะเลี้ยงแมวพันธุ์นี้ไม่ควรเพาะพันธุ์ต่อ หรือหากต้องการเพาะพันธุ์ก็แนะนำให้ผสมกับแมวสายพันธุ์แท้อื่น ๆ



 
 

เบงกอล (Bengal)

แมวสายพันธุ์นี้ ชื่ออาจจะฟังดูคล้าย ๆ เสือกันสักหน่อยครับ ลวดลายบนตัวก็ยังคล้ายเสืออีก สายพันธุ์ที่กำลังพูดถึงนี้ก็คือ เจ้าแมวเบงกอล

ลักษณะ
แมวเบงกอลเป็นแมวขนาดกลางค่อนไปทางใหญ่ น้ำหนักโตเต็มที่ตามมาตรฐานสายพันธุ์อยู่ที่ประมาณ 3 - 7 กิโลกรัม โดยตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย ขนสั้น (เบงกอลอีกสายพันธุ์หนึ่งจะมีขนยาว เรียกว่า Bengal longhairs ซึ่งจะแตกต่างจากเบงกอลธรรมดา ) สีขน และรูปแบบลายขน มีลักษณะเป็นจุดคล้ายแมวป่า หรือลายหินอ่อน ผสมกันระหว่างสีน้ำตาลทอง สีดำ สีครีม แมวเบงกอลจะมีใบหน้ายาว ดวงตารูปไข่ ช่วงปาก และจมูกจะค่อนข้างกลม ใบหูตั้งลักษณะกลม ดูเผิน ๆ เหมือนทำหน้านิ่งตลอดเวลา รูปร่างสูงโปร่งเป็นแมวที่นิสัยกระตือรือร้น คล่องแคล่วปราดเปรียว ซุกซน กล้าหาญ ชอบกระโดดขึ้นที่สูง อันนี้ชายหมอ(หมา) มีประสบการณ์ตรง เคยเจอน้องเบงกอล ตัวหนึ่ง พอจะจับฉีดวัคซีน ทันใดนั้นก็กระโดดจากโต๊ะตรวจขึ้นไปบนตู้สูงมาก ไม่ยอมลงมา ต้องเดือดร้อนเจ้าของวิ่งไล่กันอยู่นาน นอกจากนี้เบงกอลยังชอบเล่นน้ำ มีสัญชาตญาณการเป็นนักล่าค่อนข้างสูง ชอบทำตัวเป็นเจ้านาย ชอบการเอาใจ ขี้เล่น ชอบเล่นกับเจ้าของ

การดูแล
การดูแลเลี้ยงดูเบงกอลนั้นจะพิเศษกว่าแมวทั่วไปเล็กน้อย การให้อาหารจำเป็นต้องให้อาหารประเภทเนื้อสดเสริมจากอาหารเม็ดปกติบ้าง โดยต้องเลือกเนื้อที่สะอาด เพื่อป้องกันการท้องเสียการป้องกันโรค การอาบน้ำ ดูแลขน และผิวหนังสามารถทำได้เช่นเดียวกับแมวขนสั้นทั่วไป คือประมาณ 1 - 2 ครั้งต่อเดือน

ก่อนจะตัดสินใจรับน้องแมวเบงกอล มาเลี้ยง มีข้อควรพิจารณาดังนี้
1. ปัญหาระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากแมวพันธุ์นี้ต้องการอาหารประเภทเนื้อสดเสริมด้วย ดังนั้นจึงเสี่ยงต่อการท้องเสียได้ง่าย โดยมีการปนเปื้อนมาจากอาหารสดที่กินนั่นเอง

2. ปัญหาโรคหัวใจ แมวเบงกอลมักพบปัญหาการเป็นโรคหัวใจได้ค่อนข้างบ่อย เจ้าของจึงควรมีเวลาพาไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ



 

 

สฟริงซ์ (Sphynx)

สายพันธุ์นี้บางคนก็บอกว่ามันน่ารักดี แต่ก็มีไม่น้อยที่บอกว่าหน้าตาประหลาด แถมยังมองดูเหมือนไม่มีขนอีกต่างหาก เห็นชื่อเรียกสายพันธุ์สฟริงซ์แบบนี้ แท้จริงแล้วต้นกำเนิดไม่ได้มาจากอียิปต์นะครับ แต่มาจากประเทศแคนาดา ที่เรียกว่าสฟริงซ์ก็เพราะหน้าตาของพวกมันดันไปคล้ายกับรูปปั้นสฟริงซ์ในสุสานของฟาโรห์นั่นเองครับ

ลักษณะ 
สฟริงซ์เป็นแมวขนาดกลาง น้ำหนักโตเต็มที่ตามมาตรฐานสายพันธุ์อยู่ที่ประมาณ 4 - 6 กิโลกรัมสำหรับตัวผู้ และ 3 – 5 กิโลกรัมสำหรับตัวเมีย ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของแมวที่ไม่มีขน ( Hairless ) แต่แท้จริงแล้วพวกมันมีขนเส้นเล็ก ๆ ละเอียด ๆ ปกคลุมอยู่รอบตัว ลักษณะคล้ายหนังกลับหรือผ้าชามัวร์ สีของเจ้าสฟริงซ์นั้น จะเป็นสีที่เกิดจากเม็ดสีของผิวหนังโดยตรง สีของเส้นขนนั้นมีผลต่อสีของตัวแมวน้อยมาก โดยมีความหลากหลายตั้งแต่สีขาว สีครีม สีน้ำตาล สีดำ เป็นต้น โดยรูปแบบของสีนั้น ที่พบเจอได้บ่อย ๆ สามารถแบ่งออกได้เป็น 
4 แบบ คือ 

1. แบบสีเดียวทั้งตัว (Solid color)
2. แบบมีหลายสีบนตัวแตกต่างกันไปตามตำแหน่ง (Particolored)
3.  แบบลาย (Tabby)
4.  รูปแบบสีกระจายตัวคล้ายกระดองเต่า (Tortoiseshell)


ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งของเจ้าสฟริงซ์ก็คือ มีใบหูขนาดใหญ่ทรงสามเหลี่ยม ดวงตาโตเป็นรูปเลม่อน ด้วยความที่ขนสั้นมาก จะสามารถมองเห็นรอยย่นบนใบหน้า และผิวหนังบริเวณลำตัว โดยเฉพาะไหล่ได้ชัดเจน ซึ่งหลายคนก็มองว่า นี่คือสเน่ห์ของเจ้าแมวสายพันธุ์นี้

สฟริงซ์เป็นแมวที่ฉลาด อ่อนโยน มีความอยากรู้อยากเห็น และมีความเป็นมิตรสูงมากทั้งกับคน เด็ก แม้กระทั่งสุนัขก็ตาม อีกทั้งยังค่อนข้างติดคน ชอบอยู่กับคนอีกด้วย และที่สำคัญเป็นแมวที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ขนแมว ในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้อีกด้วย (จะแพ้ขนแมวได้ยังไง แทบไม่มีขนเลย)

การดูแล
การดูแลเลี้ยงดูน้องแมวสฟริงซ์นั้นก็ไม่ง่ายซะทีเดียว แต่ก็ไม่ได้ยุ่งยากมากนัก เพียงแต่ต้องเข้าใจธรรมชาติของเค้านั่นเอง ในเรื่องอาหารนั้นแม้ว่าจะมีขนสั้นมาก ๆ แต่ก็ยังคงต้องให้อาหารที่มีสารอาหารที่บำรุงขนอย่างครบถ้วย อุปกรณ์การเลี้ยงก็ต้องสะอาด ไม่มีสารตกค้าง เนื่องจากจะทำให้ระคายเคืองได้ง่ายเพราะไม่มีขนยาวๆคอยปกป้องเหมือนแมวพันธุ์อื่น ๆ

ในส่วนของการดูแลขนและผิวหนังนั้น หลายท่านอาจจะคิดว่า สบายแน่ ๆ ขนไม่ค่อยมี ไม่ต้องแปรงขน ไม่ต้องอาบน้ำบ่อยสักปีละครั้งก็น่าจะพอ ขอบอกเลยว่าผิดนะครับ การแปรงขนอาจจะไม่จำเป็นต้องทำบ่อย แต่สามารถทำได้ครับโดยใช้แปรงที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม แปรงเบา ๆ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือดที่ผิวหนังและการสร้างน้ำมันมาเคลือบผิว ด้วยความที่พวกมันขนสั้นมาก จึงทำให้มีการผลิตน้ำมันออกมาเคลือบผิวไว้ค่อนข้างมาก ประกอบกับเป็นแมวสายพันธุ์เดียวที่มีต่อมเหงื่อ จึงทำให้มีการสร้างเหงื่อออกมาที่ผิวหนังด้วย อาจมีกลิ่นหรือทำให้สีของผิวหนังเปลี่ยนไป การอาบน้ำจึงจำเป็นมาก อาจต้องอาบบ่อยถึงสัปดาห์ละครั้งเลยทีเดียว ขึ้นกับสุขภาพผิว และความพอใจของเจ้าของ แต่โดยทั่วไปอาบเพียง 1-2 ครั้งต่อเดือนก็เพียงพอ ซึ่งพอต้องอาบน้ำบ่อยๆแบบนี้ การเลือกแชมพูจึงมีความสำคัญมากสำหรับเจ้าแมวสายพันธุ์นี้ ควรเลือกแชมพูอาบน้ำที่อ่อนโยน มีสารบำรุงผิว ไม่ทำให้ผิวแห้งจนเกินไป

ก่อนจะตัดสินใจรับน้องแมวสฟริงซ์ มาเลี้ยง มีข้อควรพิจารณาดังนี้
1. ปัญหาระบบผิวหนัง นื่องจากแมวพันธุ์นี้ขนสั้นมาก ๆ จึงทำให้อาจเกิดการแพ้ หรือการระคายเคืองจากสิ่งที่สัมผัสผิวหนังได้ นอกจากนี้การที่ไม่มีขนยาว ๆ คอยปกคลุมร่างกายนั้น ยังทำให้ผิวหนังของสฟริงซ์มีความไว้ต่อการทำลายโดยแสงแดด หรือแสงยูวีอีกด้วย ทำให้ผิวหนังไหม้ (Burn) หากจำเป็นต้องพาออกไปกลางแจ้งที่มีแดดค่อนข้างแรง อาจต้องทาครีมกันแดดให้น้องแมวด้วยนะครับ



 

 

วิเชียรมาศ 

(Wichienmaat, Siamese cat or Old-Style Siamese cat)
แมวไทย โดยทั่วไปเราจะรู้จักกันในชื่อสายพันธุ์ Domestic shorthair ซึ่งคำ ๆ นี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นแมวพันธุ์ไทยโดยตรงนะครับ แต่แปลว่าแมวขนสั้นที่เลี้ยงทั่ว ๆ ไปนั่นเอง ดังนั้นแมวไทยที่ชายหมอ(หมา) จะแนะนำวันนี้จึงขออนุญาติระบุให้ชัดเจนครับ “ แมววิเชียรมาศ แมวมงคลตามตำราโบราณ ที่มีมานานหลายร้อยปี ”

ลักษณะ
แมววิเชียรมาศจัดเป็นแมวขนาดกลาง น้ำหนักโตเต็มที่ตามมาตรฐานสายพันธุ์อยู่ที่ประมาณ 5 - 7 กิโลกรัมสำหรับตัวผู้ และ 4 – 6 กิโลกรัมสำหรับตัวเมีย จัดอยู่ในกลุ่มของแมวขนสั้น (Shorthair) มีขนไม่แน่นมากนัก นุ่ม เป็นมันเงา คล้ายเส้นไหม สีขน และรูปแบบของขนจะต้องตรงตามตำราดูลักษณะแมว คือ ต้องมีขนสีพื้นคือ สีขาวงาช้าง หรือสีครีมอ่อน มีจุดแต้ม ( Point color ) ทั่วร่างกาย 9 ตำแหน่ง ได้แก่ ปลายเท้าทั้งสี่ ปลายหูทั้งสอง ปลายหาง บนจมูก และที่อวัยวะเพศ เป็นสีน้ำตาลเข้มจนถึงเกือบดำ แต่ไม่ดำ หรือที่นิยมเรียกว่าแต้มสีครั่ง (Seal brown)ลักษณะพิเศษอีกอย่างคือ ดาวงตาเป็นสีฟ้าประกายสดใส ขายาว ทำให้ลำตัวดูสูงเพรียว หางเรียวยาวคล้ายหางเสือ แมววิเชียรมาศเป็นแมวที่ฉลาดมาก มีความกระตือรือล้น อยากรู้อยากเห็น ชอบอยู่กับคน ชอบเล่น เข้ากับเด็ก ๆ ได้ดี และยังมีนิสัยขี้อ้อนเหมือนเด็กอีกด้วยอย่างที่บอกไปในตอนต้นว่าวิเชียรมาศนั้นจัดเป็น 1 ใน 17 แมวมงคล หรือแมวให้คุณตามตำราดูลักษณะแมวโบราณที่จารึกไว้ในสมุดข่อย (ชายหมอก็ไม่เคยเห็นเหมือนกัน หน้าตาเป็นยังไงนะ) เชื่อว่าหากเลี้ยงไว้จะทำให้ผู้เป็นเจ้าของมีโชคลาภ ร่ำรวยมีทรัพย์สมบัติเพิ่มพูล หรือแม้กระทั่งได้เป็นขุนนางเลยทีเดียว จึงเป็นทีนิยมเลี้ยงไว้ในราชสำนัก ตั้งแต่สมัยอยุธยา

การดูแล
การดูแลเลี้ยงดูแมววิเชียรมาศนั้น ต้องบอกว่าไม่ยุ่งยากเลยสักนิด ดูแลเรื่องอาหาร เครื่องใช้ การป้องกันโรคให้เหมาะสม การดูแลผิวหนัง และขนก็แสนจะง่ายดาย เนื่องจากขนสั้น และไม่หนา ดังนั้นไม่จำเป็นต้องแปรงขนบ่อย ๆ แต่ชายหมอ(หมา) แนะนำให้แปรงขนสักสัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้งก็พอ จะได้ช่วยเค้าผลัดขน และกระตุ้นผิวหนังให้เลือดไหลเวียนดี ระบายความอับชื้น และกระตุ้มการสร้างน้ำมันมาเคลือบผิวทำให้ ขนเงางามดุจเส้นไหม
ส่วนในเรื่องการอาบน้ำนั้น ต้องบอกเลยว่าแล้วแต่เจ้าของครับ บางตัวตลอดชีวิตไม่เคยอาบน้ำเลยก็มี แต่ก็ยังสะอาดนะครับ เพราะมีพฤติกรรม Self-grooming แต่ถ้าให้แนะนำ ชายหมอ(หมา) คิดว่าควรอาบนะครับ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง จะได้ช่วยล้าง และกำจัดสิ่งสกปรกที่ติดตามขนหรือผิวหนังออกบ้าง และที่สำคัญควรฝึกตั้งแต่เด็ก ๆ ไม่งั้นพอโตแล้วไม่ยอมให้อาบแน่ ๆ ครับ

ก่อนจะตัดสินใจรับน้องแมววิเชียรมาศมาเลี้ยง มีข้อควรพิจารณาดังนี้
1. ปัญหาเรื่องพฤติกรรม เนื่องจากแมววิเชียรมาศมีความฉลาดค่อนข้างมาก และติดคน มีนิสัยเอาแต่ใจ เมื่อถูกขัดใจ หรือปล่อยให้อยู่ตามลำพังนาน ๆ อาจจะทำลายข้าวของได้ หรือส่งเสียงร้องก่อกวนความสงบได้ นอกจากนี้ยังเป็นแมวที่ฝึกได้ค่อนข้างยากอีกด้วย

2. ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ด้วยความที่วิเชียรมาศเป็นแมวพื้นถิ่นของประเทศไทย จึงผ่านการปรับปรุงสายพันธุ์ตามธรรมชาติมาพอสมควร จึงไม่ค่อยพบปัญหาหรือพันธุกรรมที่ไวต่อโรคใดเป็นพิเศษในแมวที่เกิดเองตามธรรมชาติ แต่ในการเพาะพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์แท้นั้น เคยมีรายงานว่าอาจมีความไวต่อการเกิดบางโรค เช่น (Amyloidosis) และโรคหัวใจที่มีการตีบแคบของหลอดเลือดแดงใหญ่ (Aortic stenosis) แต่พบไม่บ่อยนัก



 


ขาวมณี (Khaomanee)

น้องแมวขาว (เรียกซะเสียราคาเลย) หรือเรียกเต็ม ๆ ว่า แมวขาวมณี เป็นแมวไทยที่เชื่อว่าเพิ่งค้นพบในสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะไม่มีบันทึกไว้ในสมุดข่อยโบราณ

ลักษณะ
แมวขาวมณีเป็นแมวขนาดเล็กถึงขนาดกลาง น้ำหนักโตเต็มที่ตามมาตรฐานสายพันธุ์อยู่ที่ประมาณ 4 - 5.5 กิโลกรัมสำหรับตัวผู้ และ 3 - 4.5 กิโลกรัมสำหรับตัวเมีย
จัดอยู่ในกลุ่มของแมวขนสั้นเหมือนกับวิเชียรมาศ ขนไม่หนาแน่นมากนัก นุ่ม เป็นมันเงาคล้ายเส้นไหม สีขน และรูปแบบของขนจะต้องเป็นสีขาวตลอดทั้งตัว ไม่มีสีอื่นแซม ใบหน้า และกะโหลกศีรษะจะมีรูปทรงคล้ายหัวใจ (Heart shape) มีกระดูกโหนกแก้มค่อนข้างชัด จมูกสั้น ใบหูมีขนาดใหญ่ตั้งตรง และลักษณะที่โดดเด่นอีกอย่างของแมวสายพันธุ์นี้คือ ดวงตา โดยทั่วไปจะมีตาสีฟ้า และสีอำพัน ในบางตัวที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างพ่อแม่แมวที่มีตาคนละสี อาจจะพบลักษณะมีตาสองสี โดยข้างหนึ่งสีฟ้า อีกข้างสีอำพัน รูปร่างผอมเพรียว สูง
แมวขาวมณีมีนิสัย อ่อนโยน เชื่อง แต่ก็ยังมีความซน ชอบเล่น เป็นแมวที่เข้ากับคนได้ดี รักเจ้าของ แม้ว่าแมวขาวมณีไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในตำราแมวมงคลในสมุดข่อยโบราณ แต่ก็เป็นที่นิยมเลี้ยงไว้ในราชสำนักเช่นกัน โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 แมวขาวมณีถือว่าเป็นที่โปรดปราณมาก

การดูแล
การดูแลเลี้ยงดูแมวขาวมณีนั้น ก็คล้ายกับการเลี้ยงแมววิเชียรมาศ หรือแมวไทยสายพันธุ์อื่น ๆ โดยดูแลเรื่อง อาหาร เครื่องใช้ การป้องกันโรคให้เหมาะสม ในส่วนของการดูแลผิวหนัง และขนก็เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องแปรงขนบ่อย ๆ เพียงสัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้งก็เพียงพอ เป็นการช่วยผลัดขน และกระตุ้นผิวหนังให้เลือดไหลเวียนดี ระบายความอับชื้น และกระตุ้นการสร้างน้ำมันมาเคลือบผิวทำให้ ขนเงางามดุจเส้นไหม การอาบน้ำ ก็ไม่แตกต่างจากแมววิเชียรมาศ คือ แล้วแต่ความพอใจของเจ้าของว่าจะอาบหรือไม่อาบก็ได้ แต่ด้วยความที่ขนมีสีขาว หากอยากให้ดูสะอาด ก็ควรจะอาบประมาณเดือนละ 1 - 2 ครั้ง ไม่เช่นนั้นจากสีขาวอาจจะกลายเป็นสีหม่น ๆ ได้ครับ

ก่อนจะตัดสินใจรับน้องแมวขาวมณีมาเลี้ยง มีข้อควรพิจารณาดังนี้
1. ปัญหาเรื่องลักษณะด้อยทางพันธุกรรม ต้องยอมรับเลยว่าแมวขาวมณีที่มีลักษณะตรงตามตำราแท้ ๆ นั้น เป็นแมวที่มีลักษณะด้อยทางพันธุกรรมติดตัวมาเยอะมาก
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าแมวขาวมณีแทบทุกตัวจะมีความผิดปกติอยู่ เช่น หากเป็นแมวตาสีฟ้า มักมีปัญหาเรื่องการได้ยิน หรือหูพิการ หากเป็นแมวตาสีอำพันมันมีปัญหาต่อมขน ทำให้เกิดโรคผิวหนังตามมาได้ และหากเป็นแมวตาสองสี มักพบว่าตาข้างใดข้างหนึ่งจะมองเห็นไม่ชัด หรือตาบอด เป็นต้น

ทั้ง 10 สายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่ มีความนิยมเลี้ยงกันในประเทศไทย หวังว่าคงจะถูกใจเหล่าทาสแมวไม่มากก็น้อย ส่วนใครที่จะเริ่มต้นการเป็นทาสแมว ก็หวังว่าเรื่องที่ชายหมอ(หมา) นำมาเล่าสู่กันฟังนี้จะช่วยให้สามารถเลือกน้องแมวได้เหมาะสมกับตัวเองนะครับ  
สำหรับตอนนี้ชายหมอ(หมา) คงต้องขอลาไปก่อนนะครับ อย่าลืมติดตามตอนต่อไปที่ 
เว็บไซต์ Yippee Happy กันนะครับ


บทความโดย
อ. น.สพ. ดร.เศรฐกิตย์ จิตเสนาะ
DVM, Ph.D.(Phatobiology)