Blog

บทความน่ารู้

5 อันดับสุนัขสายพันธ์ใหญ่ที่นิยมเลี้ยง

สวัสดีครับ....ในตอนที่แล้ว ชายหมอ (หมา) ได้เขียนถึงสายพันธุ์สุนัขที่นิยมเลี้ยงไปแล้ว 5 สายพันธุ์ โดยทั้งหมดเป็นพันธุ์เล็กทั้งสิ้น คุณผู้อ่านบางท่านอาจยังไม่ถูกใจ บางท่านเป็นสายออกกำลังกายแนว outdoor วิ่งจ๊อกกิ้งวันละ 20 กิโลเมตร ยังไม่เหนื่อย แข็งแรงระดับซุปเปอร์ฮีโร่ จะให้เลี้ยงพันธุ์เล็ก ๆ ใส ๆ มันไม่เหมาะหรือเปล่า ตอนนี้ชายหมอ (หมา) เลยขอจัดให้ครับ ใครที่กำลังมองหาสุนัขพันธุ์ใหญ่ เท่ ๆ คูล ๆ ต้องไปหามาเลี้ยงเลยครับ 

 


บีเกิล (Beagle)

ลักษณะ และคุณสมบัติโดยทั่วไป
สายพันธุ์แรกที่ชายหมอ(หมา) จะแนะนำก็คือ สายพันธุ์นี้เลยครับ ”บีเกิล” ในสมัยก่อนเลี้ยงไว้ใช้ล่าสัตว์ แต่ในปัจจุบันกลายมาเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมในการเลี้ยงมากสายพันธุ์หนึ่ง ด้วยเหตุผลที่เจ้าบีเกิลมีนิสัยที่อ่อนโยน  และรักเจ้าของมากนั่นเอง 
บีเกิลแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกัน ตามความสูงของตัว โดยวัดจากความสูงของไหล่ คือ กลุ่มตัวเล็ก มีความสูงน้อยกว่า 13 นิ้ว และอีกกลุ่มคือกลุ่มตัวโต มีความสูง 13-15 นิ้ว มีน้ำหนักตามมาตรฐานสายพันธุ์อยู่ที่ประมาณ 9 - 15 กิโลกรัมเมื่อโตเต็มที่ 
สีขนที่พบส่วนใหญ่จะมีสองแบบ แบบแรกคือ มีสองสี คือ ขาวและน้ำตาล อยู่บนตัว ซึ่งพบไม่บ่อยนักในประเทศไทย อีกแบบหนึ่งที่พบบ่อยในบ้านเราคือ แบบสามสี คือ ขาว น้ำตาล และดำ อยู่บนตัว การกระจายตัวของสีขนจะมีรูปแบบที่หลากหลาย  สุนัขบีเกิลจะมีหน้าตาที่น่ารัก ดูเป็นมิตร ตาโต หูปรก มีนิสัยที่ร่าเริง ขี้เล่น อ่อนโยน ฉลาด เหมาะที่จะเลี้ยงไว้สร้างความสุขในครอบครัว 

การดูแลเบื้องต้น
การดูแลบีเกิลนั้นก็ไม่ถือว่ายุ่งยากนัก ด้วยความที่เป็นสุนัขขนสั้น  จึงไม่ต้องแปรงขนบ่อย  แต่ปัญหาที่พบบ่อย ๆ คือ ขนร่วงเยอะ ทำให้มักพบเศษขนร่วงตามพื้นเยอะ จนเจ้าของบางท่านตกใจว่าสุนัขมีปัญหาผิวหนังหรือเปล่า ดังนั้นในช่วงที่มีขนร่วงหรือมีการผลัดขน อาจทำให้ต้องแปรงขนบ่อยขึ้นเพื่อกำจัดขนที่หลุดและกระตุ้นการงอกใหม่ของเส้นขน 
โดยปกติแล้วเขาไม่จำเป็นต้องอาบน้ำบ่อย แต่ด้วยนิสัยอันซุกซนทำให้หลังจากไปวิ่งเล่นมา ตามตัวค่อนข้างสกปรก และมีกลิ่นได้ง่าย ควรอาบน้ำประมาณไม่เกินสัปดาห์ละ 1 ครั้ง พร้อมกับตัดเล็บให้สั้น และที่สำคัญที่สุดคือการดูแลความสะอาดของใบหู ด้วยความที่เป็นสุนัขที่มีใบหูปรก ทำให้เกิดความอับชื้น หรือติดเชื้อได้ง่าย การทำความสะอาดจึงจำเป็นมาก ควรทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคหูอักเสบนั่นเอง
ในเรื่องของการออกกำลังกาย ด้วยวิวัฒนาการของสายพันธุ์ที่เคยเป็นนักล่านั้น ทำให้บีเกิลเป็นสุนัขที่มีพลังงานในตัวสูง  มีความกระตือรือล้น กระปรี้กะเปร่าในการออกกำลังกายเป็นอย่างมาก ในแต่ละวันเขาต้องออกกำลังกายอย่างน้อย 1 ชั่วโมง  โดยการออกกำลังกายนั้นไม่ใช่เพียงแค่การปล่อยไปวิ่งในสนามหญ้า แต่เขาต้องการการมีปฏิสัมพันธ์หรือการเล่นร่วมกันกับเจ้าของ มีการศึกษาพบว่าการปล่อยให้เขาอยู่เพียงลำพัง ไม่ว่าจะเป็นในบ้านหรือนอกบ้านเป็นระยะเวลานานนั้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตของตัวสุนัขเอง

ปัญหาสุขภาพที่ต้องพิจารณาก่อนเลี้ยง
  1. ปัญหาด้านผิวหนัง ด้วยความที่บีเกิ้ลมีขนสั้น ไม่หนา จึงมักเกิดการระคายเคือง หรืออาการแพ้ได้ค่อยข้างง่าย ทำให้การดูแลและบำรุงสุขภาพผิวหนัง และขนให้แข็งแรงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสายพันธุ์นี้ อีกปัญหาที่สำคัญคือ ความสะอาด และสุขภาพของใบหู อย่างที่เล่าไปแล้วว่าบีเกิลนั้นหูปรก ทำให้ใบหูนั้นปกปิดส่วนของช่องหูเอาไว้ จึงง่ายต่อการเปียกชื้น ง่ายต่อการติดเชื้อ หรือสกปรก โดยที่เจ้าของไม่สังเกตุเห็น การทำความสะอาดใบหู และช่องหูจึงมีความสำคัญมาก

  2. ปัญหาด้านข้อสะโพก และลูกสะบ้าเคลื่อน โดยลักษณะทางพันธุกรรมเขามักมีปัญหาข้อสะโพกเสื่อม และลูกสะบ้าเคลื่อนได้ โดยบางตัวอาจพบทั้ง 2 อาการร่วมกัน ทำให้เป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิตของสัตว์ จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการใช้ยา หรือการผ่าตัด

  3. ปัญหาโรคเรื้อรังอื่น ๆ  เช่น ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ และโรคลมชัก
 

 


โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ (Golden Retriever)

ลักษณะและคุณสมบัติโดยทั่วไป
ถ้าจะพูดถึงสายพันธุ์สุนัขที่มีความอ่อนโยน น่ากอด เป็นมิตรกับคนรอบข้าง และยังสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้ คงนึกถึงสุนัขสายพันธุ์ไหนไปไม่ได้นอกจาก สายพันธุ์นี้เลย “โกลเด้น รีทรีฟเวอร์”  เจ้าสุนัขตัวโต แต่นิสัยเหมือนเด็ก ชอบทำเหมือนตัวเอง ตัวเล็กนิดเดียว สุนัขพันธุ์นี้จัดอยู่ในสุนัขขนาดกลางค่อนไปทางใหญ่ มีน้ำหนักตัวตามมาตรฐานสายพันธุ์อยู่ที่ 25 – 35 กิโลกรัมเมื่อโตเต็มวัย 
มีขนยาว หนา นุ่มเป็นเงางาม สีขนจะเป็นสีน้ำตาลทองตามชื่อสายพันธุ์ มีกะโหลกที่กว้าง หูปรก  ปากตรงเป็นทรงกระบอก มีแววตาเป็นมิตร มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่ดูทะมัดทะเมง และทรงพลังในทุกก้าวย่าง โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ มีนิสัยขี้เล่น รักสนุก ชอบประจบเจ้าของ และชอบอยู่กับคน ฉลาด สามารถฝึกให้เชื่อฟังได้ง่าย นอกจากเหมาะที่จะเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนหรือเฝ้าบ้านแล้ว ยังสามารถฝึกเพื่อให้ช่วยเหลือนำทางคนตาบอด หรือใช้เพื่อบำบัดโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย

การดูแลเบื้องต้น
การดูแลโกลเด้น รีทรีฟเวอร์นั้นบอกได้เลยว่า ต้องเอาใจใส่มากสักหน่อย เพราะนอกจากจะขนยาวแล้ว ขนก็ยังร่วงง่าย แถมยังมีการผลัดขนได้มากถึงปีละ 2 ครั้งอีกด้วย การแปรงขนจึงมีความสำคัญ โดยต้องแปรงทุกวันซึ่งอาจจะใช้เวลาพอสมควรกว่าจะแปรงได้หมดทั้งตัว 
ในเรื่องของการอาบน้ำนั้น ก็เป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว เพราะขนที่หนา และขนาดตัวที่ใหญ่โต จึงทำให้การอาบน้ำในแต่ละครั้งนั้นยากลำบากมาก โดยทั่วไปมักอาบเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่ด้วยนิสัยที่ซุกซน ชอบเล่นน้ำ เล่นสกปรก อาจะทำให้ต้องอาบน้ำบ่อยขึ้น หลังอาบน้ำเสร็จ ควรเช็ดตัวและเป่าลมให้แห้งก่อนจึงทำการแปรงขน ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เส้นขนขาดได้ ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน เจ้าของจึงต้องมีเวลาในการดูแลเค้ามากพอสมควร ในส่วนของใบหูก็เช่นกัน ควรทำความสะอาดสัปดาห์ละครั้ง เพื่อป้องกันความสกปรก และการติดเชื้อ
ในด้านการออกกำลังกาย โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ จัดอยู่ในกลุ่ม sporting group คือต้องการการออกกำลังกายมากในแต่ละวัน โดยทั่วไปเจ้าของนิยมพาไปวิ่งที่สวนสาธารณะโดยสามารถวิ่งได้เป็นระยะทางไกล ๆ  การออกกำลังกายอีกแบบที่นิยมคือการว่ายน้ำ เป็นกิจกรรมที่สุนัขได้ออกกำลังกายโดยไม่เกิดแรงกระแทกที่กระดูกและข้อต่อมากเกินไป

ปัญหาสุขภาพที่ควรพิจารณาก่อนเลี้ยง
  1. ภาวะข้อสะโพกเสื่อม เป็นความผิดปกติหนึ่งที่พบได้บ่อยในโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ เนื่องจากปัจจัยทางพันธุกรรม และการออกกำลังกายอย่างหนักตลอดช่วงชีวิต โดยทั่วไปในรายที่ไม่รุนแรงมากอาจพบในสุนัขอายุมากร่วมกับอาการน้ำหนักเกิน แต่ในรายที่มีความผิดปกติมาก อาจพบได้หลังออกกำลังกายที่เกิดแรงกระแทกต่อข้อสะโพกอย่างหนัก

  2. ปัญหาเรื่องตา สุนัขสายพันธุ์มักมีปัญหาตาอักเสบ ระคายเคืองบ่อยๆ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเปิดภาวะเปลือกตาม้วนออกในสุนัขที่อายุมาก ในสุนัขเด็กหรือสุนัขรุ่นบางตัวจะพบการเกิดต้อกระจก และช่องหน้าตาอักเสบได้

  3. ปัญหาผิวหนัง ด้วยลักษณะขนที่ยาว และหนาของสุนัขพันธุ์นี้  เมื่อเกิดเปียกน้ำ หรืออาบน้ำแล้วเป่าไม่แห้งทำให้เกิดการอับชื้นตามมาได้ง่าย และไวต่อการเกิดโรคติดเชื้อที่ผิวหนัง  นอกจากนี้ ปัญหาหูอักเสบก็พบได้บ่อยเช่นกัน เนื่องจากมีใบหูขนาดใหญ่ ที่ปรกลงมา ทำให้ปิดบังความผิดปกติในช่องหูได้ เจ้าของจึงควรทำความสะอาดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

 


ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ (Labrador Retriever)

ลักษณะและคุณสมบัติโดยทั่วไป
เมื่อมีโกลเด้น รีทรีฟเวอร์แล้ว จะขาดญาติสนิทพันธุ์นี้ไปได้อย่างไรครับ ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ สุนัขตัวโต หน้าตาใจดี นิสัยเป็นมิตร สุนัขพันธุ์นี้จัดเป็นสุนัขขนาดกลางค่อนข้างใหญ่ มีน้ำหนักตามมาตรฐานสายพันธุ์อยู่ที่ประมาณ 25 - 37 กิโลกรัมเมื่อโตเต็มที่
 เป็นสุนัขขนสั้น แต่ขนหนา และแน่น โดยสีขนมีทั้งหมด 3 สี คือ น้ำตาลอ่อน สีดำ และสีช๊อกโกแลต โดยสีน้ำตาลอ่อนนั้นเป็นที่นิยมมากที่สุด กะโหลกศีรษะกว้าง ตาจะหรี่เล็กน้อย แววตาอ่อนโยนเป็นมิตร หางมีลักษณะเรียวยาว ค่อนข้างหนา ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ เป็นสุนัขสายพันธุ์ที่ขึ้นชื่อด้านความเป็นมิตรมาก ๆ  กระฉับกระเฉง มีชีวิตชีวา มีความฉลาด ฝึกง่าย นอกจากจะเหมาะกับการนำมาเลี้ยงเป็นเพื่อน  เพื่อสร้างความสุขแก่คนในครอบครัว และเฝ้าบ้านแล้วยังสามารถนำมาฝึกเพื่อใช้งานด้านการนำทางคนตาบอด การดมหาสารเสพติด หรือการดมหาระเบิดจากการมีประสาทรับกลิ่นที่ดีมาก หรือแม้แต่การบำบัดโรคซึมเศร้าก็เช่นกัน

การดูแลเบื้องต้น
การดูแลสุนัขพันธุ์นี้ก็ไม่ยุ่งยากนัก ด้วยความที่เป็นสุนัขขนสั้น และหนา จึงต้องการเพียงการแปรงขนเป็นครั้งคราว การอาบน้ำเพื่อรักษาความสะอาดสัปดาห์ละ 1 ครั้งก็เพียงพอ ในเรื่องใบหูก็ต้องการการทำความสะอาดสัปดาห์ละ 1 ครั้งเช่นกัน นอกจากนี้ยังต้องดูแลเรื่องการตัดเล็บให้สั้น เพื่อป้องกันปัญหาเล็บฉีกจากการเล่นซนของสุนัขเอง 
ในส่วนของการออกกำลังกาย สายพันธุ์นี้จัดเป็น sporting group  มีพลังงานในตัวเองสูง ต้องการการออกกำลังกายมาก ๆ ในทุก ๆ วัน กิจกรรมโปรดของลาบราดอร์ คือการว่ายน้ำ การล่าสัตว์ แม้แต่การปีนเขา รวมถึงการวิ่งเล่นกับเจ้าของ

ปัญหาสุขภาพที่ควรพิจารณาก่อนเลี้ยง
  1. ปัญหาข้อสะโพก สุนัขพันธุ์นี้มีปัญหาเรื่องข้อสะโพกเช่นเดียวกับสุนัขพันธุ์อื่น ส่วนหนึ่งมากจากลักษณะทางพันธุกรรม ร่วมกับการเป็นสุนัขที่ต้องการออกกำลังกายอย่างหนักในแต่ละวัน ส่งผลให้มีภาวะข้อสะโพกเสื่อมตามมาคล้ายคลึงกับในพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเว่อร์ 

  2. ปัญหาด้านตา สุนัขพันธุ์นี้มีแนวโน่มสูงที่จะเป็นภาวะจอประสาทตาเสื่อม (progressive retinal atrophy)

  3. ปัญหาโรค exercise induced collapse สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ เป็นสุนัขที่มีการศึกษาพบว่าในบางตัวมียีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะการทำงานของร่างกายล้มเหลวจากการกระตุ้นโดยการออกกำลังกายอย่างหนัก โดยทั่วไปสุนัขที่มียีนของโรคดังกล่าวสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติในสภาวะการออกกำลังกายทั่วไป แต่ต้องหลักเลี่ยงการฝึกหรือออกกำลังกายอย่างหักโหม

 


ไซบีเรียน ฮัสกี  (Siberian Husky)

ลักษณะและคุณสมบัติโดยทั่วไป
ไซบีเรียน ฮัสกี เป็นสุนัขอีกสายพันธุ์หนึ่งที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย เนื่องจากมีความสวยงาม และซื้อสัตย์ต่อเจ้าของมากสุนัขพันธุ์นี้จัดเป็นสุนัขขนาดกลาง มีน้ำหนักตามมาตรฐานสายพันธุ์ประมาณ 20-30 กิโลกรัมเมื่อโตเต็มที่ มีขนหนา 2 ชั้น แข็งและฟูมาก มีสีขน คือ ดำ เทา หรือ ทองแดง บนพื้นขาว และมีรูปแบบของสีที่หลากหลาย ดวงตาเป็นรูปเมล็ดแอลมอนด์ อาจมีตาสีน้ำตาลหรือสีน้ำเงินก็ได้ ใบหูตั้งตรงเป็นรูปสามเหลี่ยม การเคลื่อนไหวมีความคล่องตัวสูง มีนิสัยรักเจ้าของ มีความซื้อสัตย์สูง ซุกซน ขี้เล่น ในอดีตจัดเป็นสุนัขในกลุ่ม working group มีไว้สำหรับใช้ล่าสัตว์ หรือลากเลื่อน

การดูแลเบื้องต้น
การดูแลสุนัขพันธุ์นี้ ดูเหมือนจะยุ่งยาก แต่แท้จริงไม่เป็นเช่นนั้น แม้ว่าจะมีขนที่หนา แต่สุนัขพันธุ์นี้มีพฤติกรรมทำความสะอาดตัวเองได้ (self-cleaning) การเลี้ยงในเขตอากาศหนาว หรือที่ ๆ มีอุณหภูมิต่ำจึงไม่จำเป็นต้องอาบน้ำบ่อย เพียงปีละ 2 - 3 ครั้งก็เพียงพอ แต่การเลี้ยงในประเทศไทยอาจจะต้องอาบบ่อยขึ้น เนื่องจากมีสภาพอากาศที่ร้อน ทำให้มีกลิ่นตัวได้ง่ายกว่า สิ่งที่ควรระวังก็คือ หลังอาบน้ำเสร็จแล้วต้องเป่าขนให้แห้งสนิท ไม่เช่นนั้นจะเกิดการอับชื้นได้ง่าย  การแปรงขนก็ไม่จำเป็นต้องแปรงทุกวัน เพียงสัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้งเพื่อกำจัดเศษขนที่หลุดร่วง และกระตุ้นการสร้างขนใหม่ ยกเว้นในช่วงผลัดขนที่ขนจะร่วงในปริมาณมาก อาจต้องแปรงขนให้บ่อยขึ้น ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษก็คือการตัดเล็บ และการตัดเล็มขนบริเวณอุ้งเท้า และง่ามนิ้ว เมื่อไม่ให้อับชื้อจนก่อให้เกิดการอักเสบ ติดเชื้อตามมา
ในส่วนของการออกกำลังกาย ไซบีเรียน ฮัสกี จัดเป็นสุนัขในกลุ่ม working group ต้องการการออกกำลังกายที่มาก แม้จะไม่มากเท่า sporting group ก็ตาม สุนัขพันธุ์นี้จะมีความสุขกับการออกกำลังกาย โดยเฉพาะการวิ่ง เป็นสิ่งที่ชอบมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังมีความสุขกับการได้การได้ทำงานหรือหน้าที่ตามเจ้านายสั่ง การมีกิจกรรมร่วมกัน การออกกำลังกายที่เพียงพอ และเหมาะสมจะทำให้สุนัขพันธุ์นี้มีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต 

ปัญหาสุขภาพที่ควรพิจารณาก่อนเลี้ยง
  1. ปัญหาเรื่องการอาศัยในสภาพภูมิอากาศเขตร้อน เนื่องจากเป็นสุนัขที่มีถิ่นกำเนิดจากเขตอากาศหนาว และมีขนที่หนาระบายความร้อนไม่ดี จึงไม่ค่อยเหมาะสมนักที่จะเลี้ยงในประเทศไทยที่อากาศร้อนทั้งปี ส่งผลต่อทั้งสุขภาพร่ายกาย และสุขภาพจิตของสุนัข เจ้าของบางท่านอาจต้องสร้างห้อง หรือโรงเรือนที่ติดแอร์เพื่อให้อยู่ได้อย่างสบาย

  2. ปัญหาโรคผิวหนัง การเป็นสุนัขที่มีขนหนา เมื่อนำมาเลี้ยงในประเทศไทย ทำให้ต้องอาบน้ำบ่อยขึ้น และโดยพฤติกรรมของตัวสุนัขเองก็ชอบที่จะเล่นน้ำ เพื่อระบายความร้อน การอาบน้ำไม่สะอาด เป่าขนไม่แห้ง ใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำไม่เหมาะสม ส่งผลทำให้เกิดโรคผิวหนังตามมาได้หลายโรค

 3. ปัญหาข้อสะโพกเสื่อม พบได้เช่นเดียวกับสุนัขขนาดกลางไปจนถึงสุนัขพันธ์ใหญ่อื่น ๆ

 


สุนัขพันธุ์ไทย (Mixed breed)

ลักษณะและคุณสมบัติโดยทั่วไป
มาถึงพันธุ์สุดท้าย ชายหมอ (หมา) อยากจะแนะนำ นั่นก็คือ สุนัขพันธุ์ไทยนั่นเอง บางคนอาจจะเรียกว่าพันธุ์ทาง หรือพันธุ์ผสม สุนัขพันธุ์นี้เป็นสุนัขที่มีความหลากหลายสูงมากขึ้นอยู่กับว่ามีสายพันธุ์ที่ผสมมาจากพันธุ์อะไรนั่นเอง มีตั้งแต่ขนสั้น จนถึงขนยาวคล้ายโกลเด้น รีทรีฟเวอร์เลยทีเดียว นิสัยก็น่ารัก เชื่อง รักเจ้าของ ขี้อ้อน ฉลาดไม่แพ้พันธุ์แท้อื่น ๆ เลยทีเดียว เหมาะกับการเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนหรือเฝ้าบ้าน

การดูแลเบื้องต้น
การดูแล ก็ไม่ยุ่งยาก เพียงดูแลเรื่องการแปรงขนบ้าง อาบน้ำ เดือนละ 1 - 2 ครั้ง ทำความสะอาดหู ตัดเล็บเช่นเดียวกับสุนัขสายพันธุ์อื่น ๆ

ปัญหาสุขภาพที่ควรพิจารณาก่อนเลี้ยง
อาจกล่าวได้ว่าพบน้อยมากเนื่องจากสุนัขมีการผสมหลายสายพันธุ์ ผ่านการปรับตัวให้เหมาะกับสิ่งแวดล้อม และการเลี้ยงดูในประเทศไทย สุนัขพันธุ์ไทยจึงถือเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่เหมาะมากสำหรับผู้ที่กำลังมองหาสมาชิกใหม่ในครอบครัว โดยเฉพาะในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อ มีหลายองค์กรหรือหน่วยงานพยายามหาบ้านให้สุนัขเหล่านี้อยู่ แทนที่เราจะต้องไปเสียเงินซื้อสุนัขแพง ๆ มาเลี้ยง การหันมารับอุปการะสุนัขไม่มีบ้านเหล่านี้ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ตัวเราเองก็สุขใจ และยังช่วยลดปัญหาสังคม ปัญหาสุนัขจรจัดได้อีกทางครับ
จากข้อมูลทั้งหมดที่ชายหมอ(หมา) ได้นำมาแบ่งปันไว้ในตอนนี้ หวังว่าคุณผู้อ่านทุกท่านจะสามารถเลือกสุนัขที่เหมาะสมกับตัวเองได้ง่ายขึ้น โดยพิจารณาจากทั้งอุปนิสัยของสุนัข ความสวยงาม และความเหมาะสมกับกับ life style ของตัวผู้เลี้ยงเอง ในตอนนี้ ชายหมอ(หมา) ก็คงต้องขอลาไปก่อน พบกันใหม่ตอนหน้าครับ


บทความโดย
อ. น.สพ. ดร.เศรฐกิตย์ จิตเสนาะ
DVM, Ph.D.(Phatobiology)


ข้อมูลอ้างอิง 
American Kennel Club (https://www.akc.org/)