Blog

บทความน่ารู้

5 อันดับสุนัขสายพันธ์เล็กที่นิยมเลี้ยงในไทย

สวัสดีครับ.....เจอกันอีกแล้วกับชายหมอ(หมา) และ Yippee Happy
วันนี้ชายหมอ(หมา) จะมาแนะนำชนิด หรือสายพันธุ์สุนัขพันธุ์เล็ก  มาดูกันครับว่ามีพันธุ์ไหนบ้างที่น่าเลี้ยง


เริ่มจากสายพันธุ์สุนัขที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยก่อน ส่วนสายพันธุ์ของสัตว์ชนิดอื่น ๆ จะตามมาในตอนหลังนะครับ  เมื่อพูดถึงสายพันธุ์สุนัขที่นิยมเลี้ยง เราจะพบว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ตามไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป หรือแม้แต่ปัจจัยในทางเศรษฐกิจหรือสังคมอื่น ๆ  สุนัขที่เคยเลี้ยงแพร่หลายในอดีตอย่างพันธุ์ เยอรมันเชพเพิร์ด โดเบอร์แมน หรือ ร็อตไวเลอร์ แทบไม่ค่อยเห็นคนเลี้ยงในปัจจุบัน ดังนั้นเรามาดูกันครับว่าในยุคนี้คนไทยเรานิยมเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์อะไรบ้าง พร้อมกันนี้ ชายหมอ(หมา)จะขอให้ความรู้เบื้องต้นในเรื่องการดู และปัญหาสุขภาพที่มักพบในแต่ละสายพันธุ์เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้แก่คุณผู้อ่านทุกท่านได้เลือกสุนัขที่เหมาะสมกับตนเองมาเป็นสมาชิกในครอบครัวนะครับ


ปั๊ก (Pug)

ลักษณะ และคุณสมบัติโดยทั่วไป
"ปั๊ก" เป็นสุนัขหน้าตาน่ารัก เห็นแล้วอดยิ้มไม่ได้ มีขนาดตัวที่เล็กแต่มีกล้ามแน่น ล่ำบึ๊ก 5555 น้ำหนักตามมาตรฐานสายพันธุ์อยู่ที่ประมาณ 6 - 9 กิโลกรัมเมื่อโตเต็มที่  นิสัยโดยทั่วไปร่าเริง ขี้เล่น ขี้อ้อน อ่อนโยน มีความเป็นมิตรสูง ฝึกง่ายปานกลาง ลักษณะโดยมาตรฐานแล้วมีทั้งหมด 3 สี ได้แก่ สีเทาเงิน สีน้ำตาลแกมเหลือง หน้าสีดำ (เหมือนใส่มาสก์สีดำ) และสีดำตลอดทั้งตัว กะโหลกศีรษะจะกลม และใหญ่ จัดเป็นสุนัขพันธุ์หน้าสั้น (Brachycephalic Dog) มีดวงตาเป็นประกาย  มีรอยย่นเหนือคิ้ว คล้ายกับคนเวลาแสดงอารมณ์แปลกใจ ดูน่ารักดี เรียกเสียงหัวให้กับเจ้าของได้บ่อย ๆ ปั๊กเป็นสุนัขที่เหมาะจะเลี้ยงไว้เป็นเพื่อน และเฝ้าบ้าน สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพในเมือง หรือชนบทได้ดี ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศได้ปานกลาง ขี้ร้อนนิดหน่อย แต่ถ้าดูแลเอาใจใส่ดี ๆ สามารถเลี้ยงได้ทุกที่

การดูแลเบื้องต้น
ปั๊กมีขนที่สั้น เรียบ เงางาม จึงไม่ได้ต้องการ การดูแลขนอะไรมากนัก เพียงแปรงขนเบา ๆ เพื่อกำจัดเส้นขนที่หลุดร่วงออกไปก็พอ ส่วนในเรื่องการอาบน้ำ ก็ไม่จำเป็นต้องอาบน้ำบ่อย ๆ ครับ ยกเว้นว่าไปเล่นซนจนตัวเปื้อน หรือมีกลิ่นเหม็นมา ก็ค่อยอาบ แต่โดยทั่วไปไม่ควรเกินสัปดาห์ละครั้ง การตัดเล็บ เช็ดหูก็ห้ามขาดนะครับ เห็นหูสั้นๆเล็กๆแบบนี้ แต่ด้วยความที่หูปรก จึงทำให้เกิดการอับชื้น และติดเชื้อตามมาได้ง่ายครับ ในด้านการออกกำลังกาย ปั๊กเป็นสุนัขที่ต้องการ การออกกำลังกายปานกลาง ชอบวิ่งเล่น พอ ๆ กับชอบนอนซุกบนที่นอนหรือโซฟา เจ้าของควรหาโอกาสพาไปออกกำลังตามสนามหญ้าบ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้อ้วน แต่อย่าให้ออกกำลังกายจนหักโหมเกินไป เพราะปั๊กเป็นสุนัขหน้าสั้น ที่เสี่ยงต่อภาวะอันตรายจากอากาศร้อน (heat stroke)

ปัญหาสุขภาพที่ต้องพิจารณาก่อนเลี้ยง
  1. ปัญหาผิวหนัง เป็นปัญหาอย่างแรกเลยที่ต้องคำนึงถึงคือ เรื่องผิวหนัง แม้ว่าปั๊กจะขนไม่ยาว แต่การดูแลก็มีความจำเป็นไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดโรคผิวหนัง โดนเฉพาะกลุ่มพวกโรคภูมิแพ้ หรือการติดเชื้อพวกแบคทีเรียหรือเชื้อยีสต์ ทำให้ปั๊กของเรามีกลิ่นตัวที่เหม็นนั่นเอง ซึ่งจากประสบการณ์ตรงของชายหมอ (หมา) น้องปั๊กที่เคยได้เจอ มีน้อยตัวมากที่สุขภาพผิวหนังแข็งแรง ส่วนใหญ่จะพบว่ามีรอยโรคที่ผิวหนัง และกลิ่นตัวที่รุนแรง

  2. ปัญหาสุขภาพดวงตา ปั๊กเป็นสุนัขที่ลูกตาโปนออกมาค่อนข้างมาก จึงทำให้มีปัญหาตาแห้ง มีแผลที่กระจกตาได้ง่าย บางรายจะพบลูกตาทะลักได้เวลาเกิดอุบัติเหตุ เช่น รถชน หรือโดนกัดมา

  3. ปัญหาการทนความร้อนได้ไม่ดี เช่นเดียวกันกับสุนัขสายพันธ์หน้าสั้นทั่วไป การหายใจ หรือระบายความร้อนของปั๊กจึงไม่ดีนัก ดังนั้นการพาน้องปั๊กไปออกกำลังกายหนัก ๆ  หรือพาไปอยู่ในที่ที่อากาศร้อน ชื้นมาก ๆ  เป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง

  4. ปัญหาทางเดินหายใจ จากการที่ปั๊กเป็นสุนัขพันธุ์หน้าสั้น ปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยก็คือ ปัญหาทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นการหายใจลำบาก หายใจเสียงดัง หรือภาวะหลอดลมตีบ

  5. ปัญหาภาวะคลอดยาก เนื่องด้วยปั๊กเป็นสุนัขที่มีขนาดเล็ก ส่งผลให้เชิงกรานก็เล็กและแคบไปด้วยเช่นกัน แต่ดันมีกะโหลกใหญ่ ทำให้บ่อยครั้งเวลาคลอดลูกมักคลอดเองตามธรรมชาติไม่ได้ ต้องผ่าตัดครับ

 


ปอมเมอเรเนียน (Pomeranian)

ลักษณะ และคุณสมบัติโดยทั่วไป
ปอมเมอเรเนียน สุนัขอีกสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในบ้านเรา เป็นสุนัขที่มีขนาดตัวเล็ก หน้าตาเหมือนตุ๊กตา  ขนฟู น่ากอดน่าฟัด น้ำหนักตัวตามมาตรฐานสายพันธุ์ ประมาณ 1.5 - 3 กิโลกรัมเมื่อโตเต็มที่ มีขนทั่วตัวเยอะ หนานุ่ม และสวยงาม โดยทั่วไปแล้วปอมเมอเรเนียน มีด้วยกันหลายสี หลายรูปแบบ แต่ที่พบได้บ่อยที่สุดคือสีน้ำตาลอมส้ม หรือน้ำตาลแดง ปอมเมอเรเนียนมีนิสัย ร่าเริง กระฉับกระเฉง ฉลาด ชอบวางท่าสง่างาม อีกทั้งยังฝึกง่าย มีความเป็นมิตรสูง ชอบเล่นกับเด็ก ๆ  สนุกกับการทำกิจกรรมร่วมกับเจ้าของ จึงเหมาะกับการเป็นสุนัขของครอบครัวอย่างแท้จริง

การดูแลเบื้องต้น
การดูแลปอมเมอเรเนียนนั้นค่อนข้างจะต้องการ การเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ ด้วยความที่เป็นสุนัขขนยาว หนา 2 ชั้น ผลัดขนปีละ 1 - 2 ครั้ง ขนร่วง และขนยังพันติดกันเป็นสังกะตังได้ง่ายมาก จึงต้องการ การดูแลขนเป็นพิเศษ โดยแปรงขนเป็นประจำทุกวันด้วยแปรงหมุด (pin brush) ที่เหมาะสม เพื่อกำจัดขนที่หลุดร่วงออกไป กระตุ้นให้ผิวหนังขับไขมันออกมาเคลือบให้เส้นขนเงางาม ป้องกันไม่ให้เส้นขนพันกันเป็นสังกะตัง นอกจากนี้ยังควรใช้แปรงขนลวด (slicker brush) แปรงเบา ๆ เพื่อช่วยสางขนให้พันกันคลายออก ในกรณีมีสังกะตังเกิดขึ้น 
นอกจากเรื่องการแปรงขนแล้วการอาบน้ำก็สำคัญ ต้องจัดชุดใหญ่ให้เลยครับ อาบน้ำ แล้วเช็ดหรือเป่าขนให้แห้ง เช็ดหูให้สะอาด อีกอย่างที่ขาดไม่ได้คือ การบีบต่อมก้น  และการแปรงฟันครับ ฟังดูยุ่งยากใช่ไม๊ครับ ใช้เวลานานด้วย แต่หากไม่สามารถทำเองที่บ้านได้ ก็มีสองทางเลือกครับ ทางเลือกแรกคือการพาไปเสริมสวยร้าน grooming ดี ๆ  ทางร้านก็จะจัดบริการให้อย่างเหมาะสม และทางเลือกที่สอง คือ ตัดขนให้สั้น จะทำให้การดูแลขนง่ายกว่า แม้ว่าขนจะไม่ยาวและฟู แต่ก็น่ารักไปอีกแบบครับ
ส่วนเรื่องการออกกำลังกายนั้น แม้ว่าปอมเมอเรเนียนจะเป็นสุนัขไซส์เล็ก แต่ก็ต้องการการออกกำลังกายปานกลาง พวกเค้าก็มีความสุขกับการได้วิ่งเล่น โดยเฉพาะถ้าพาออกไปนอกบ้านจะชอบเป็นพิเศษ  นอกจากนั้นยังซุกซนชอบปีนป่าย มุดช่องแคบ หรือกระทั่งกระโดดข้ามสิ่งกีดขวางเตี้ย ๆ  เจ้าของจึงต้องดูแลให้อยู่ในสายตาตลอดไม่งั้นอาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ครับ

ปัญหาสุขภาพที่ต้องพิจารณาก่อนเลี้ยง
แม้ว่าน้องปอมเมอเรเนียนจะมีความน่ารัก สวยงาม มีข้อดีมากขนาดไหน แต่ปัญหาสุขภาพที่สำคัญก็ไม่เบานะครับ
  1. ปัญหากระดูกสะบ้าเคลื่อน โรคนี้เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตค่อนข้างมาก โดยความรุนแรงจะมีตั้งแต่แค่เดินกระเผลก จนถึงขั้นไม่ลงน้ำหนักเลย จำเป็นต้องได้รับรักษาด้วยยา หรือการผ่าตัด ชายหมอ (หมา) ขอบอกเลยว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาสุนัขบางตัว นี่แพงกว่าค่าตัวน้องปอมอีกนะครับ

  2. ปัญหาทางเดินหายใจ ถึงแม้ว่าใบหน้าของน้องปอมจะไม่สั้นเหมือนน้องปั๊ก แต่ก็สามารถพบปัญหาทางเดินหายใจโดยเฉพาะพวก หลอดลมตีบได้บ่อย โดยเฉพาะในรายที่เจ้าของขุนให้อ้วนจนเหมือนตุ๊กตาหมี เตรียมตัวรับปัญหานี้ได้เลยครับ

  3. ปัญหาโรค alopecia x อันนี้นี่เป็นปัญหาระดับชาติของน้องปอมเลยนะครับ พบได้ค่อนข้างบ่อย รักษายาก ถ้าน้องปอมเป็นโรคนี้ ขนบริเวณตัวจะร่วงหมดเหลือแต่ตรงศีรษะกับช่วงท้ายลำตัวนิดหน่อย ผิวหนังจะสีเข้มขึ้น เรียกว่าหมดสวยเลยนะครับ เล่นเอาเจ้าของบางคนนี่เครียดเลย

  4. ปัญหาอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น โรคตาแห้ง โรคฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ และภาวะหัวใจวาย (congestive heart failure)



ชิห์สุ (Shi Tzu)

ลักษณะ และคุณสมบัติโดยทั่วไป
สุนัขพันธุ์ชิห์สุ เรียกว่าเป็นสุนัขพันธุ์ที่อยู่ในความทรงจำของชายหมอ (หมา) เลยครับ เป็นสุนัขที่ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นพวกเค้าวิ่งเล่นอยู่ที่สวนในบริเวณบ้านแล้ว เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นการเป็นคนรักสัตว์ของชายหมอ (หมา) ก็ว่าได้ ชิห์สุ เป็นสุนัขพันธุ์เล็ก มีน้ำหนักมาตรฐานอยู่ที่ประมาณ 4 - 8 กิโลกรัม ขนยาว มีหลายสี และหลากรูปแบบของสีขนตามลักษณะของสายพันธุ์ เป็นสุนัขที่นิยมนำมาตัดแต่งขน ย้อมสีขน แต่งตัว ใส่เสื้อผ้า ใส่เครื่องประดับมากที่สุดพันธุ์หนึ่งเลยก็ว่าได้ ชิห์สุเป็นสุนัขที่มีความน่ารัก ขี้อ้อน รักสวยรักงาม มีความเป็นมิตรสูง เข้ากับคนได้ง่าย แต่ในบางทีก็มีความกล้าหาญอีกด้วย เช่น เวลามีคนแปลกหน้า ไม่น่าไว้ใจผ่านมา จะต้องวิ่งไปเห่าตลอด ทั้ง ๆ ที่ตัวเขาไม่ได้มีความน่ากลัวเลยสักนิด นอกจากนี้ชิห์สุยังเป็นสุนัขที่เรียบร้อย ไม่ซุกซนมากนัก เหมาะกับการเลี้ยงไว้ในคอนโด ทาวน์เฮาส์ หรือบ้านที่มีบริเวณไม่กว้างนัก

การดูแลเบื้องต้น
การดูแลชิห์สุนั้นก็ยุ่งยากไม่แพ้ปอมเมอเรเนียนเลย สำหรับเจ้าของที่ชอบน้องชิห์สุขนยาว แน่นอนว่าต้องแปรงขนทุกวัน ซึ่งนอกจากขนที่ตัวแล้ว ยังมีขนบริเวณศีรษะที่ต้องแปรง และมัดให้สวยงาม นอกจากนี้ยังมีขนบริเวณปากที่คล้ายๆหนวด ซึ่งก็ต้องการการแปรง และตัดแต่ง เพื่อไม่ให้สกปรกเวลากินอาหารหรือน้ำ การอาบน้ำประมาณสัปดาห์ละ 1 ครั้งก็เพียงพอ แต่ควรใช้แชมพูที่อ่อนโยนโดยเฉพาะบริเวณหน้า ใกล้ ๆ ดวงตา เห็นไหมครับว่าการจะเลี้ยงชิห์สุขนยาวให้สวยงาม น่ารักนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เจ้าของหลาย ๆ ท่านเลยนิยมตัดขนให้สั้นลง ทรงคล้ายลูกชิห์สุ ซึ่งก็น่ารักไปอีกแบบ ดูแลง่ายขึ้นด้วยครับ
ด้านการออกกำลังกายนั้น ชิห์สุไม่ได้ต้องการการออกกำลังกายที่มากนัก เพียงแค่เดินเล่นในบริเวณบ้าน  หรือเล่นกับเจ้าของในช่วงเวลาสั้น ๆ ก็เพียงพอแล้ว ไม่เหมาะกับการพาไปวิ่งระยะไกล ๆ  หรือออกกำลังกายอย่างหักโหม

ปัญหาสุขภาพที่ต้องพิจารณาก่อนเลี้ยง
  1. ปัญหาการทนความร้อนได้ไม่ดี เช่นเดียวกับสุนัขพันธุ์ขนยาวทั่วไป ชิห์สุเป็นสุนัขที่ทนร้อนไม่ค่อยได้ เจ้าของจึงต้องดูเรื่องอุณหภูมิให้ดี อาจไม่ถึงกับต้องเปิดแอร์ให้ เพียงเลี้ยงในอุณหภูมิห้องปกติก็ใช้ได้ ในกรณีที่เลี้ยงนอกบ้านก็ต้องมีร่มเงาให้เค้าได้ไปนอนพัก และ ห้ามออกกำลังกายหักโหม

  2. ปัญหาเกี่ยวกับดวงตา ชิห์สุก็เป็นอีกสายพันธุ์ที่มีลูกตาโปนออกมาค่อนข้างมาก ปัญหาที่พบบ่อยๆในชิห์สุ คือโรคตาแห้ง ระคายเคืองได้ง่าย กระจกตาเป็นแผล ร่วมถึงภาวะต้อกระจก นอกจากนี้อีกความผิดปกติที่พบบ่อยเกี่ยวกับดวงตาคือ ภาวะลูกตาทะลัก เวลาโดนกัด กระแทกแรง ๆ  หรืออุบัติเหตุ ซึ่งเจ้าของต้องรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำความสะอาดและดันกลับคืน ไม่เช่นนั้นอาจถึงขั้นได้ควักลูกตาเลยครับ

  3. ปัญหาอื่น ๆ ที่พบได้บ้าง เช่น ภาวะสะโพกเสื่อม และกระดูกสะบ้าเคลื่อน เป็นต้น

 


ยอร์คเชียร์เทอร์เรีย (Yorkshire Terrier)

ลักษณะ และคุณสมบัติโดยทั่วไป
ถ้าพูดถึงสุนัขพันธุ์เล็ก ขนเป็นมันเงา สลวย ถูกหวีอย่างเป็นระเบียบ ยาวลากพื้น และเดินตามหรือถูกจูงโดยหญิงสูงศักดิ์แต่งตัวในแบบสมัยวิคตอเรีย ในภาพจินตนาการแบบนี้ชายหมอ (หมา) เชื่อเหลือเกินว่าทุกคนจะต้องนึกถึง สุนัขพันธุ์ยอร์คเชียร์เทอร์เรีย อย่างแน่นอนครับ ยอร์คเชียร์ เป็นสุนัขพันธุ์เล็กที่จัดอยู่ในกลุ่ม toy breed  มีน้ำหนักโดยมาตรฐานสายพันธุ์ไม่เกิน 3.5 กิโลกรัมเมื่อโตเต็มที่  มีขนยาว เป็นมันเงา สีน้ำตาลทองผสมดำ หรือ ขนออกสีเงิน  สุนัขยอร์คเชียร์ มีนิสัยที่ซุกซน กล้าหาญ หวงเจ้าของ บางทีก็ชอบทำตัวเป็นเจ้านายให้เจ้าของต้องคอยเอาใจ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้  การฝึกยอร์คเชียให้ทำตามจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก หากตัวน้องหมาเองไม่ชอบหรือไม่อยากทำตาม ยอร์คเชียร์เป็นสุนัขที่เหมาะจะเลี้ยงไว้เป็นเพื่อน มากกว่าเอาไว้เฝ้าบ้าน และด้วยความที่ขนาดตัวเล็ก จึงเป็นที่นิยมในการเลี้ยงในบ้านที่มีพื้นที่จำกัด โดยเฉพาะในเขตชุมชนเมือง

การดูแลเบื้องต้น
การดูแลยอร์เชียร์นั้น ส่วนที่สำคัญก็คือขนนั่นเอง โดยขนของยอร์คเชียร์จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับผมของคน หากต้องการไว้ขนยาวลากพื้น การแปรงขนทุกวันเป็นสิ่งที่จำเป็น นอกจากนี้ขนบริเวณด้านบนของส่วนหัว นิยมมัดรวบไว้เป็นจุกด้านบนเพื่อป้องกันการลงมาปิดบังใบหน้า หรือระคายเคืองตา บริเวณหนวดก็นิยมตัดแต่งให้สั้นพอเหมาะเพื่อป้องกันความสกปรกจากการกินอาหารและน้ำเช่นกัน ในเรื่องการอาบน้ำนั้น จำเป็นต้องอาบบ่อย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งหรือมากกว่านั้น และในทุกครั้งที่อาบน้ำก็ควรเช็ดทำความสะอาดใบหูร่วมด้วย เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกและเป็นการสังเกตุความผิดปกติเพื่อป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อ
ในด้านการออกกำลังกายนั้น ยอร์คเชียร์ต้องการเพียงเล็กน้อยถึงปานกลางเท่านั้น เพียงแค่การเดินระยะสั้น ๆ วันละ 2 - 3 ครั้ง การเดินเล่นกับเจ้าของ หรือมีกิจกรรมเล่นสนุกร่วมกันเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เพียงพอต่อการทำให้ยอร์คเชีย มีสุขภาพดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

ปัญหาสุขภาพที่ต้องพิจารณาก่อนเลี้ยง
  1. ปัญหาสุขภาพตา ด้วยความที่ยอร์คเชียร์มีขนขึ้นทั่วบริเวณใบหน้า แม้แต่ใกล้ ๆ เปลือกตา จึงทำให้เกิดการระคายเคืองได้ง่าย เสี่ยงต่อการติดเชื้อตามมา 

  2. ปัญหาภาวะกระดูกสะบ้าเคลื่อน และกระดูกหักง่าย ยอร์คเชียร์เองก็เป็นสุนัขอีกสายพันธุ์หนึ่งที่พบปัญหากระดูกสะบ้าเคลื่อนได้บ่อยโดยพันธุกรรม และนอกจากนี้ ยังมักพบการเกิดกระดูกหักจากอุบัติเหตุ เช่น กระโดด หรือตกจากที่สูงได้

 


ชิวาว่า (Chihuahua)

ลักษณะและคุณสมบัติโดยทั่วไป
มาถึงสายพันธุ์สุดท้ายของสุนัขในกลุ่มพันธุ์เล็กที่นิยมเลี้ยงกันแล้ว แน่นอนจะขาดเจ้าตัวนี้ไม่ได้ครับ ชิวาว่า น้องหมาตัวเล็กแต่ใจใหญ่ นั่นเอง ใจที่ใหญ่นี้ไม่ได้หมายถึงโรคหัวใจโตนะครับ แต่หมายถึงนิสัยที่กล้าหาญ และบุคลิกของเจ้าชิวาว่านั่นเอง ชิวาว่าเป็นสุนัขตัวเล็กมากน้ำหนักตามมาตรฐานสายพันธุ์จะอยู่ที่ไม่เกิน 2.5 กิโลกรัมเมื่อโตเต็มที่ ศีรษะกลมโต คล้ายลูกแอปเปิ้ล ใบหูตั้งเหยียดตรง ลักษณะขนอาจยาวหรือสั้นก็ได้ มีสี และรูปแบบของขนที่หลากหลาย ซึ่งสี และรูปแบบบางแบบนั้นมีความหายาก จึงมักมีราคาสูงมาก เป็นสุนัขที่มีนิสัยอ่อนโยน ติดเจ้าของ ซื่อสัตย์ต่อเจ้าของมาก ในบางครั้งเรามักจะพบชิวาว่าจะทำตัวเสมือนตัวเองเป็นสุนัขตัวโต ไม่กลัวอะไรทั้งสิ้น เห่าไว้ก่อน แต่ก็สามารถฝึกให้เชื่อฟังได้ จึงจัดว่าเป็นสุนัขในอุดมคติของสังคมเมือง ที่สามารถเลี้ยงเฝ้าบ้านได้ดีพอ ๆ กับเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนเลยทีเดียว

การดูแลเบื้องต้น
การดูแลชิวาว่านั้น ขึ้นอยู่กับชนิดที่เลี้ยง หากเลี้ยงพันธุ์ที่ขนสั้น การดูแลก็ไม่ยุ่งยากนัก เพียงแค่แปรงขนให้บ้าง อาบน้ำ 1 - 2 สัปดาห์ต่อครั้งก็เพียงพอ ส่วนในพันธุ์ขนยาวนั้นการดูแลก็คล้ายกับพันธุ์ขนยาวอื่น ๆ ที่อาจจะต้องแปรงขนให้บ่อยขึ้นเพื่อป้องกันสังกะตัง รวมถึงต้องเช็ดหูให้สะอาด ตัดเล็บให้สั้น นอกจากนี้ก็มีเรื่องสุขภาพฟันที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ด้วยความที่พันธุ์มีขนาดเล็ก การใช้พวกขนมหรืออาหารขัดฟันจึงค่อนข้างลำบาก นิยมใช้การแปรงฟันแทน 
ในเรื่องการออกกำลังกาย แม้ว่าชิวาว่าจะเป็นสุนัขพันธุ์เล็ก แต่มีความกระปรี้กะเปร่าสูง ต้องการการออกกำลังกายปานกลาง รักในการวิ่งเล่น แม้จะเป็นแค่การวิ่งในบริเวณแคบ ๆ มีพื้นที่จำกัดก็ตาม ชอบการเดินเล่นกับเจ้าของ แต่ต้องระวังไม่ให้เหนื่อยมากเกินไปเพราะอาจทำให้หอบได้

ปัญหาสุขภาพที่ต้องพิจารณาก่อนเลี้ยง
  1. ปัญหาโรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด ชิวาว่าเองเป็นสุนัขที่มีพันธุกรรมที่ไว้ต่อการมีความผิดปกติของโรคหัวใจแต่กำเนิด เช่น โรคการคงอยู่ของหลอดเลือด ductus arteriosus และโรคความผิดปกติของลิ้นหัวใจ mitral valve ซึ่งโรคพวกนี้มักสังเกตอาการได้คร่าว ๆ ตั้งแต่อายุน้อย หากมีความผิดปกติรุนแรง  ดังนั้นก่อนเลือกชิวาว่ามาเป็นสมาชิกในครอบครับ อาจจำเป็นต้องตรวจ หรือพิจารณาถึงโรคเหล่านี้ร่วมด้วย

  2. ปัญหาภาวะกระดูกสะบ้าเคลื่อน สามารถพบได้บ่อยเช่นกันในชิวาว่า โดยส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยทางพันธุกรรม
ในตอนนี้ ชายหมอก็ขอจบการแนะนำเอาไว้ที่ 5 สายพันธุ์ ของสุนัขพันธุ์เล็กที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยก่อน คุณผู้อ่านท่านใดที่ยังเลือกไม่ได้ หรือยังไม่ถูกใจกับสุนัขไซส์ตุ๊กตาเหล่านี้ ในตอนหน้าจะเป็นคิวของสุนัขพันธุ์ใหญ่บ้าง แล้วมารอติดตามกัน  ที่ FB Page Yippee Happy นะครับว่าจะมีสายพันธุ์ที่คุณผู้อ่านชอบหรืออยากเลี้ยงอยู่บ้างหรือเปล่า
 


บทความโดย
อ. น.สพ. ดร.เศรฐกิตย์ จิตเสนาะ
DVM, Ph.D.(Phatobiology)


ข้อมูลอ้างอิง  
American Kennel Club (https://www.akc.org/)