Blog

บทความน่ารู้

วิธีเอาตัวรอดจากโรค COVID-19 ของคนและสุนัข

ในช่วงที่ผ่านมามีรายงานการตรวจพบเชื้อ COVID-19 ในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนที่มีเจ้าของเป็นผู้ติดเชื้อจากฮ่องกง ซึ่งผลการตรวจตัวอย่างจากบริเวณปากและจมูก พบเป็นผลบวกในระดับต่ำ (weakly positive) อีกทั้งสุนัขตัวดังกล่าวก็ไม่แสดงอาการอะไรที่เกี่ยวข้องกับโรค COVID-19 เลย 
แต่เพื่อความมั่นใจจึงได้ทำการกักสุนัขตัวนี้ไว้เพื่อสังเกตอาการ และได้ทำการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจพิสูจน์หาความแน่ชัดต่อไป อย่างไรก็ดียังไม่มีรายงานว่าสุนัขจะสามารถแพร่เชื้อ COVID-19 กลับมายังคนเราได้แต่อย่างใด  

เพื่อความไม่ประมาทมีข้อปฏิบัติจากคำแนะนำขององค์กรทางด้านสุขภาพทั้งของคน และสัตว์ ทั้งในระดับโลกและในประเทศ สรุปได้เป็นวิธีการง่าย ๆ เพื่อที่พวกเราจะได้ใช้สำหรับการป้องกันโรค COVID-19 ได้ทั้งในคน และในสัตว์เลี้ยง 
1. คุณเจ้าของควรดูแลรักษาความสะอาดของสัตว์เลี้ยงของตัวเองให้ดี รวมถึงตัวคุณเจ้าของเองที่ต้องล้างมือก่อนสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงหลังกลับมาจากข้างนอกบ้าน เช็ดฝ่าเท้าของสัตว์เลี้ยงหลังพาออกไปเดินข้างนอก แต่ไม่ต้องเช็ดมาก หรือบ่อยจนเกินไป เพราะอาจทำให้ฝ่าเท้าของสัตว์เลี้ยงแห้งเกินไปได้

2. หากเราไอ-จาม ควรใช้ช่วงข้อพับข้อศอกป้องจมูกและปาก เพื่อป้องกันละอองน้ำมูกแพร่กระจาย โดยทาง WHO ยอมรับว่า การไอแต่ละครั้งจะพ่นละอองออกมาได้ไกลถึง 6 เมตร ส่วนการจามไปได้ไกลถึง 8 เมตร และเมื่อไวรัสกระจายอยู่ในอากาศ มันสามารถอยู่ได้นานหลายชั่วโมง ในละอองน้ำมูก หรือบนพื้นผิวที่มันสัมผัส
แต่ถ้าดวงดีมีคนมาไอ-จามใกล้ ๆ WHO แนะว่าควรจะอยู่ห่างจากคนรอบข้างอย่างน้อย 3 เมตร เพื่อที่จะไม่ต้องสูดละอองน้ำมูกจากการจามใครโดยไม่จำเป็น ถ้าเป็นไปได้และไม่ดูประหลาดไป ถ้าเห็นใครไอ ให้หันศีรษะ หรือหันทั้งตัวหลบไปจากคน ๆ นั้น พร้อมทั้งอาจจะใช้ผ้าเช็คหน้าหรือทิชชูป้องปาก และจมูกตัวเองไว้ด้วยก็ได้

3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่เราไม่ทราบประวัติ ไม่ทราบที่มา หรือไม่คุ้นเคยมาก่อน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ป้องกันด้วยการสวมหน้ากาก และสวมถุงมือทุกครั้งก่อนการสัมผัส หรือล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งทั้งก่อน และหลังการสัมผัสสัตว์ที่ไม่ทราบประวัติ ที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงการไปยังตลาดที่ค้าขายสัตว์มีชีวิต

4. ผู้ที่เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง หรืออยู่ในช่วงที่แนะนำให้กักตัวเองที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน แนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นการลูบตัว กอด หอมตัวสัตว์เลี้ยง หรือยอมให้สัตว์เลี้ยงมาเลียหน้าหรือเลียมือเช่นกัน หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้หาทางป้องกันตัว เช่นสวมหน้ากากและถุงมือ รวมถึงล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งทั้งก่อนและหลังการสัมผัสสัตว์เลี้ยง ควรนำสัตว์เลี้ยงไปฝากเลี้ยงไว้กับสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวที่ไม่มีอาการป่วยก่อนเป็นการชั่วคราว

5. ผู้ที่เปิดสถานประกอบการรับเลี้ยงสัตว์ อาบน้ำตัดขน คลินิกหรือโรงพยาบาลรักษาสัตว์ ตลอดจนบุคลากรทางการสัตวแพทย์ ควรระมัดระวังและสอบถามประวัติเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกราย หากเจ้าของหรือคนใกล้ชิดคนอื่น ๆ ของสัตว์เลี้ยง มีประวัติการเดินทางไปยังต่างประเทศหรือพื้นที่เสี่ยง หรือมีโอกาสไปสัมผัสเชื้อมา แนะนำให้งดการรับฝากสัตว์เลี้ยงตัวดังกล่าว หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น เป็นสัตว์ที่ต้องเข้ารับการรักษากับสัตวแพทย์ ให้เจ้าหน้าที่ใช้ความระมัดระวังอย่างสูงในการป้องกันตามหลักวิชาการ รวมถึงการสวมหน้ากากและถุงมือตลอดเวลา และล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งทั้งก่อน และหลังการสัมผัสสัตว์เลี้ยงที่มีประวัติดังกล่าว

6. หากสัตว์เลี้ยงมีอาการป่วยที่ไม่สามารถอธิบายได้ หรือมีประวัติการใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ COVID-19 มาก่อน ให้รีบแยกเลี้ยงทันที แล้วติดต่อที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลด้านระบาดวิทยาในพื้นที่โดยเร็ว อาจโทรไปที่สาย 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค อาจประสานงานไปยังคลินิก หรือโรงพยาบาลสัตว์ใกล้บ้าน และควรติดต่อไปยังสัตวแพทย์ก่อนจะนำสุนัขไปตรวจล่วงหน้า ไม่ควรเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยโดยพลการ เพราะจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามมาตรการการป้องกันโรค เพื่อให้สัตวแพทย์ได้เตรียมรับมือ และประสานงานไปยังหน่วยงานที่ดูแลเรื่องระบาดวิทยาก่อน

7. หากต้องอาศัยในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค COVID-19 ให้หลีกเลี่ยงการพาสุนัขไปยังแหล่งชุมชน ที่มีคนและสัตว์อาศัยอยู่แออัด หรือพบปะกับสัตว์ตัวอื่น ๆ ที่ไม่ทราบประวัติ อย่าให้สุนัขเลียหรือสัมผัสกับสิ่งที่อาจปนเปื้อนเชื้อได้ ควรให้กินอาหารปรุงสุกหรืออยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด เพื่อความปลอดภัย แม้จะยังไม่พบการติดเชื้อจากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ก็ตาม ควรเลี้ยงสุนัขให้ถูกสุขลักษณะ และเจ้าของที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาด ก็ควรต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา (เมื่อจำเป็น) และล้างมือด้วยสบู่เป็นประจำ

8. หมั่นติดตามข้อมูลของโรค COVID-19 เพราะโรคนี้ยังถือเป็นโรคอุบัติใหม่ ที่ยังต้องมีการศึกษาและมีการค้นพบข้อมูลใหม่ ๆ เพิ่มเติมมาอยู่เรื่อย ๆ ดังนั้นไม่ควรตื่นตระหนกกับข่าวลวง เราควรติดตามข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมทั้งข้อมูลจากหน่วยงานทางสาธารณสุขและทางการสัตวแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ
 
เรายังไม่สามารถยืนยันได้ว่า สุนัขจะสามารถรับเชื้อโรค COVID-19 จากคนได้  แต่สุนัขตัวดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการกักโรคที่สำคัญโรค COVID-19 นี้ยังไม่มีหลักฐานว่าสามารถแพร่เชื้อจากสุนัขมายังมนุษย์ หรือสัตว์เลี้ยงอื่นต่อได้ ผู้เลี้ยงสุนัขยังไม่ต้องกังวลใจ แต่เพื่อความไม่ประมาทก็ควรต้องป้องกันตัวเราเองและสุนัข ควรเลี้ยงสุนัขอย่างถูกสุขลักษณะ รวมถึงตัวผู้เลี้ยงเอง ก็ควรสวมหน้ากากป้องกันและการล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งทั้งก่อนและหลังการสัมผัสสุนัข เพื่อลดโอกาสการส่งต่อและการรับเชื้อซึ่งกันและกันระหว่างเรากับสุนัข

บทความอ้างอิง : Dogilike, sanook.com, voathai.com