Blog

บทความน่ารู้

อาการหนังตาม้วนในสุนัข

หนังตาม้วนในสุนัข

ดวงตาของสุนัขทุกตัวอาจไม่ได้ปกติเสมอไป เพราะความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งอาจจะเป็นเพราะสายพันธุ์ของสุนัขนั้น ๆ หรือการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “หนังตาม้วนเข้า” (entropion) ได้นั่นเอง ซึ่งการม้วนเข้าของหนังตานี้เองทำให้เกิดความผิดปกติต่าง ๆ ตามมา เช่นการที่ขนตาที่อยู่บริเวณหนังตา รวมถึงตัวหนังตาเอง ไปเสียดสีลูกตาตัวเองได้

อาการ

เนื่องจากเจ้าหนังตาม้วนนี้มักทำให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตา ทำให้สุนัขมักแสดงอาการน้ำตาไหลตลอดเวลา ตาแดง หากเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดสีที่ตา เนื่องมาจากการอักเสบของเยื่อบุตาขาว (conjunctivitis) อย่างต่อเนื่อง รวมถึงอาจพบขี้ตาสีเขียวและไหลเป็นทางบริเวณหัวตา เป็นต้น

สาเหตุ

การเกิดอาการหนังตาม้วนนั้นเกิดจากพันธุกรรม เป็นส่วนใหญ่โดยพบว่าสุนัขพันธุ์ที่มีความเสี่ยงได้แก่กลุ่มสุนัขพันธุ์หน้าสั้น (brachycephalic breed) เช่น ชิสุห์ ปั๊ก ปอมเมอเรเนียน เป็นต้น เนื่องจากสุนัขเหล่านี้มักมีเอ็นที่ยึดบริเวณภายในลูกตาอย่างแน่นทำให้มักพบว่ามีอาการตาถลนได้ง่ายและมักไปสีกับหนังตา  แต่ในสุนัขพันธุ์ใหญ่จะพบปัญหาตรงกันข้ามคืออาจพบหนังตาด้านนอกที่เยอะเกินไป จึงมีการม้วนกลับเข้ามาชนลูกตาได้ในบางครั้งนอกจากนี้การเกิดการอักเสบบ่อย ๆ มักทำให้เกิดอาการตากระตุก (blepharospasm) ซึ่งมีผลต่อการม้วนเข้าของหนังตาเช่นกัน

การวินิจฉัย

เจ้าของสามารถตรวจเองได้ที่บ้านโดยหากพบอาการตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว หากทำการสังเกตดี ๆ จะพบหนังตาม้วนในสัตว์เลี้ยงของคุณได้ แต่จำเป็นต้องให้สัตวแพทย์ตรวจประเมินอาการอีกทีว่ามีความเสียหายไปถึงระดับไหน รวมถึงอาจพิจารณารับการผ่าตัดแก้ไขต่อไป

การรักษา

หากพบว่ามีการอักเสบของตา หรือมีแผลหลุมที่กระจกตาจำเป็นที่จะต้องทำการรักษาให้หายก่อน ส่วนการรักษาแก้ไขหากทำได้ตั้งแต่เด็กก็จะยิ่งดีเพราะจะช่วยลดปัญหาการเกิดการอักเสบหรือผลกระทบอื่น ๆ ในระยะยาวต่อมาโดยในการผ่าตัดนั้นสัตวแพทย์จะตัดหนังตาบางส่วนออกเพื่อไม่ให้หนังตาที่ผิดปกติม้วนเข้าไปชนลูกตา

การดูแล

ภายหลังจากการรักษาให้หมั่นสังเกตอาการของสุนัขหากพบว่ายังมีน้ำตาไหลมากอยู่ และมีอาการกะพริบตาบ่อย ๆ นั่นอาจหมายถึงการร่นลงของหนังตาทำให้เกิดภาวะหนังตาม้วนออก (ectropion) ซึ่งจำเป็นต้องได้รับยาเพื่อลดอาการอักเสบลง ส่วนในรายที่ต้องทำการรักษาแผลที่กระจกตา อาจจำเป็นต้องได้รับน้ำตาเทียมยาปฏิชีวนะหยอดตา และอาจเสริมยาลดปวดแบบชนิดหยอดตาร่วมด้วย

การม้วนของหนังตาเข้าด้านในนั้นจำเป็นที่จะต้องหมั่นพาไปให้สัตวแพทย์ตรวจสม่ำเสมอ เพื่อประเมินอาการเกี่ยวกับดวงตา  เนื่องจากถึงแม้ว่าจะผ่าตัดแก้ไขแล้วก็มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นอีกได้เช่นกัน หากปัญหามาจากพันธุกรรมจริง ๆ

ที่มา : honestdocs.co

ติดตามข้อมูลดี ๆ สำหรับคนรักสัตว์ได้ที่
FB Page : Yippee Happy