Blog

บทความน่ารู้

รู้หรือไม่...อาหารมนุษย์อันตรายกับเจ้าเหมียว


เมื่อน้องแมวกลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เป็นธรรมดาที่เหล่าบรรดาคุณเจ้าของ ก็อยากจะสรรหาอาหาร หรือขนมมาแบ่งปันให้กับน้องแมว  แต่อาหารบางประเภทของคนเรามีผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหารของเจ้าเหมียว เป็นสาเหตุทำให้มีอาการอาเจียน ท้องเสีย หรือ เบื่ออาหารได้ 
 

รายการอาหารที่คุณเจ้าของควรระวัง อย่าเผลอให้น้องรับประทานเข้าไป

1. ช็อกโกแลต สารประกอบในช็อกโกแลตทำให้เกิดพิษ คือ “ Theobromine ” ซึ่งจะพบได้ในช็อกโกแลตทุกชนิด จะมีความเข้มข้นสูงที่สุดในช็อกโกแลตชนิด Dark chocolate  และ ช็อกโกแลตสำหรับอบขนมที่ไม่มีความหวาน เมื่อบริโภคเข้าไปแล้ว จะทำให้เกิดอาการ หัวใจเต้นเร็ว กล้ามเนื้อกระตุกสั่นไหว หรือมีอาการชัก
2. ชา, กาแฟ, เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเหล่านี้มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ ซึ่งจะส่งผลให้น้องแมว เกิดอาการ กระวนกระวาย, หายใจเร็ว, หอบ, หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ และกล้ามเนื้อกระตุกสั่นไหว เป็นต้น
3. ผลิตภัณฑ์จากนมวัว แมวเป็นสัตว์ที่ไม่มีเอนไซม์ย่อยนมวัวในกระเพาะอาหาร เมื่อทานเข้าไปจะทำให้ อาเจียน และ ท้องเสียได้
4. เนื้อดิบ, ไข่ดิบ, ปลาดิบ และเนื้อติดมัน การทานอาหารดิบจะทำให้น้องแมวเสี่ยงต่ออาการท้องเสียและอาเจียน จากการติดเชื้อแบคทีเรีย Salmonella หรือ E.coli ได้ และการให้ทานเนื้อสัตว์ติดมัน จะทำให้น้องแมวเสี่ยงเป็นโรคตับอ่อนอักเสบได้
5. องุ่นและลูกเกด แมวมักไม่ค่อยชอบทาน และไม่ค่อยมีรายงานการป่วยในน้องแมวมากนัก แต่ในสุนัข จะทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ แต่ถ้าเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้น้องแมวทานเป็นวิธีที่ดีที่สุด
6. หัวหอมและกระเทียม การทานหัวหอมและกระเทียมจนเป็นอันตรายนั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ทานเข้าไป แต่การทานกลีบของกระเทียมเข้าไป จะไปมีผลต่อระบบการย่อยอาหาร และการทานหัวหอมบางประเภทเข้าไป สารในหัวหอมจะไปทำอันตรายกับเม็ดเลือดแดงของแมว ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก และเกิดภาวะโลหิตจางได้
7. ปลาทูน่าที่นำมาผลิตเป็นอาหารกระป๋องสำหรับแมวโดยเฉพาะ จะเหมาะสมกับแมวที่สุด แต่ถ้าเป็นทูน่าในอาหารของคน ถ้าทานมาก ๆ บ่อย ๆ จะส่งผลให้เจ้าเหมียวขาดวิตามิน อี ทำให้เกิดโรคไขมันอักเสบ หรือ Steatitis (Yellow Fat Disease) ได้
8. สารให้ความหวาน Xylitol จะพบมากในหมากฝรั่ง ยังไม่มีการรายงานที่แน่ชัดว่าการทานไซลิทอลจะทำให้น้องแมวป่วย แต่ในน้องหมานั้นจะทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำลง จะเกิดภาวะตับวาย แต่เพื่อความปลอดภัย ก็ไม่ควรแบ่งอาหารประเภทนี้ให้น้องแมวทานนะคะ
 

การดูแลเบื้องต้น

หากคุณเจ้าของสงสัยว่าน้องแมวของเราทานอาหารที่กล่าวข้างต้นเข้าไป ควรกะประมาณปริมาณอาหารที่ทานเข้าไปด้วยว่ามากน้อยเพียงใด
โทรหาสัตวแพทย์เพื่อปรึกษา โดยปกติแล้วการที่น้องแมวทานอาหารในปริมาณน้อยมักจะไม่ค่อยพบอาการอะไร แต่เมื่อทานเข้าไปในปริมาณมาก อาจจะทำให้น้องแมวแสดงอาการได้ คุณเจ้าของควรทำให้น้องแมวอาเจียนออกมา และรีบพาไปหาสัตวแพทย์โดยด่วน
 

การดูแลของสัตวแพทย์

การรักษา
การรักษาจะเป็นการดูแลแบบ ประคับประคองอาการ คือ ให้น้ำเกลือเข้าเส้นเลือด นอนดูอาการอยู่ที่โรงพยาบาล ตรวจเช็คระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด
การป้องกัน
การป้องกันที่ดีที่สุด คือ เก็บอาหารต้องห้ามให้ห่างจากสัตว์เลี้ยง แต่ถ้าจำเป็นที่จะต้องให้อาหารมนุษย์ ควรทำดังนี้
ควรให้เป็นโอกาสพิเศษ นาน ๆ ครั้งให้เป็นรางวัล และไม่ควรให้ในปริมาณสูง เพื่อป้องกันไม่ให้กระเพาะอาหาร-ลำไส้ทำงานได้ไม่ดี และ อาจจะส่งผลให้เจ้าเหมียวขาดสารอาหารได้
ถ้าคุณเจ้าของไม่ทานอาหารแล้ว หรือทานไม่หมด ก็ไม่ควรให้อาหารเหลือนั้นกับน้องแมว และไม่ควรให้อาหารดิบแก่น้องแมวด้วยค่ะ

ติดตามข้อมูลดี ๆ สำหรับคนรักสัตว์ได้ที่
FB Page : Yippee Happy
ข้อมูลอ้างอิง
honestdocs.com