Blog

บทความน่ารู้

วิธีกำจัดเห็บ...ศัตรูตัวร้ายของสัตว์เลี้ยงแสนรัก


สวัสดีครับคุณเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกท่าน กลับมาพบกันอีกเช่นเคยที่เว็บไซต์ Yippee Happy  สำหรับในตอนนี้ชายหมอ(หมา) จะมาเล่าต่อจากตอนที่แล้วนะครับ หลังจากที่เราได้ทำความรู้จักกับเห็บและวงชีวิตของพวกมันไปเบื้องต้นแล้ว ในตอนนี้เราจะมาเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการกำจัด หรือควบคุมประชากรของเหล่าเห็บ แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นยังมีอีกเรื่องที่คุณเจ้าของควรจะต้องรู้ไว้นั่นก็คือ อันตรายที่เกิดจากเห็บนั่นเองครับ

เห็บนอกจากจะทำร้ายน้องหมาของพวกเราด้วยการดูดกินเลือด ซึ่งหากดูดกินมาก ๆ อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้แล้ว ยังนำพาภัยร้ายที่น่ากลัวกว่าการสูญเสียเลือดเป็นอาหารให้แก่พวกมันหลายเท่ามาให้นั่นก็คือ เห็บสามารถเป็นพาหะนำเชื้อโรคหลายชนิดมาสู่ร่างกายของสัตว์เลี้ยง โดยเชื้อโรคเหล่านี้จะอาศัยอยู่ภายในตัวเห็บ เมื่อเห็บที่มีเชื้อโรคขึ้นมาบนตัวสัตว์ และทำการกัดกินเลือดก็จะเป็นการแพร่เชื้อโรคมาให้สัตว์เลี้ยงผู้น่าสงสารของเราครับ โดยโรคที่เห็บนำมาแพร่นั้นส่วนใหญ่เป็นโรคในกลุ่ม โรคติดเชื้อพยาธิในเม็ดเลือด (blood parasite infection)  โดยบางโรคนั้นมีอันตรายถึงขนาดทำให้สัตว์เลี้ยงเสียชีวิตได้เลยทีเดียว ได้แก่ Babesiosis, Ehrlichiosis และ Hepatozoonosis เป็นต้น

จากอันตรายเหล่านี้เองคุณเจ้าของสัตว์ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า แม้จะมีเห็บมากัดน้องหมาของเราเพียงตัวเดียว แต่หากเป็นเห็บที่มีเชื้อโรคเหล่านี้น้องหมาของเราก็มีสิทธิได้รับเชื้อ และป่วยเป็นโรคได้ครับ ดังนั้นข้ออ้างที่ไม่ยอมป้องกันโดยบอกว่า มีเห็บนิดเดียวดูดเลือดไม่เยอะหรอก เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำนะครับ ชายหมอ(หมา) แนะนำว่าอย่าประหยัดในสิ่งที่จำเป็นแบบนี้เลยครับ ค่ารักษาโรคเหล่านี้แพงกว่าการป้องกันเยอะ และถ้าโชคร้ายน้องหมาของเราอาการหนักมาก ๆ ต่อให้มีเงินแค่ไหนก็อาจไม่สามารถยื้อชีวิตของเพื่อนผู้ซื่อสัตย์ของเราได้ครับ

มาถึงส่วนที่สำคัญที่สุดของเรื่องนี้คือ การกำจัดและควบคุมประชากรเห็บ หรือที่เจ้าของสัตว์บางท่านมักจะเรียกว่าการป้องกันเห็บนั่นแหละครับ หากคุณเจ้าของสัตว์จำเรื่องวงชีวิตที่เล่าไปในตอนที่แล้วได้ จะพบว่าเห็บไม่ได้อาศัยอยู่บนตัวสัตว์ตลอดเวลา พวกมันจะตกลงมาอยู่บนพื้นอาศัยอยู่ตามสิ่งแวดล้อมอยู่เป็นระยะๆ ดังนั้นหัวใจหลักของการจะกำจัดพวกมันให้หมดไป  ต้องทำการกำจัดทั้งเห็บที่อยู่บนตัวสัตว์และเห็บที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม  จึงจะทำให้การกำจัดและควบคุมประชากรเห็บมีประสิทธิภาพ  ซึ่งในทางปฏิบัติเจ้าของส่วนใหญ่มักไม่เข้าใจในสิ่งเหล่านี้ หลายท่านกำจัดเห็บเฉพาะที่อยู่บนตัวสัตว์ โดยอาจใช้วิธีทั้งที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมบ้าง แต่ผลสุดท้ายก็คือ เห็บแทบจะไม่ลดลงเลย จนหลายท่านมาบ่นให้ชายหมอ(หมา)ฟังบ่อย ๆ ว่าทำไมยานั่น ยานี้ใช้ไม่ได้ผล 


การกำจัดเห็บบนตัวสุนัข

ในปัจจุบันมีเทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการกำจัดเห็บบนสุนัขออกมาวางจำหน่ายหลากหลายรูปแบบ โดยมีข้อบ่งใช่ ข้อดี และข้อเสียแตกต่างกันไปในแต่ละผลิตภัณฑ์ ชายหมอ(หมา) คงไม่สามารถระบุยี่ห้อ หรือรูปแบบที่ดีที่สุดได้นะครับ แต่จะขอแนะนำเป็นแต่ละประเภทแทนนะครับ 

1.ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บประเภทแชมพูกำจัดเห็บ 
เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กำจัดเห็บที่มีใช้มายาวนาน คุณแม่ของชายหมอ(หมา) ก็เคยใช้ ราคาไม่แพง เหมาะกับสุนัขที่มีเห็บเล็กน้อยโดยในตัวแชมพูจะผสมตัวยา หรือสารฆ่าแมลงไว้ในปริมาณที่พอเหมาะ สามารถใช้อาบน้ำให้สุนัขแทนแชมพูอาบน้ำปกติได้ แต่ด้วยความที่มีส่วนผสมของยาฆ่าแมลง สุนัขบางตัวอาจเกิดการระคายเคืองจากแชมพูดังกล่าวได้ ดังนั้นจึงต้องศึกษาวิธีใช้ให้ดี ผสมแชมพูลงในน้ำก่อนที่จะเอามาชโลมบนตัวสัตว์ และล้างออกให้สะอาดครับ

2.ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บประเภทน้ำยาหมักหลังอาบน้ำ
น้ำยากำจัดเห็บชนิดที่ใช้หมักหลังอาบน้ำ เหมาะกับสุนัขที่มีเห็บปริมาณมาก และจำเป็นต้องกำจัดในทันที ไม่สามารถใช้วิธีอื่นที่ต้องรอระยะเวลาได้ ซึ่งน้ำยาเหล่านี้มีอยู่หลายหลายประเภท แต่ที่นิยมใช้กันมากในสถานพยาบาลสัตว์ หรือร้านอาบน้ำตัดขนก็คือ ผลิตภัณฑ์ยา amitraz เป็นยากำจัดเห็บที่ให้ผลในการกำจัดเห็บที่ดี นิยมผสมน้ำเพื่อเจือจางแล้วหมักไว้ที่ตัวสัตว์ แต่มีข้อเสียคือ กลิ่นฉุนมาก และหากสัตว์เลียกิน อาจเป็นอันตรายได้ นอกจากยาตัวดังกล่าวแล้ว ได้มีการพัฒนาน้ำยากำจัดเห็บขึ้นมาอีกหลายชนิดที่ให้ประสิทธิภาพดีและมีความเป็นพิษต่อสัตว์น้อย เช่น ผลิตภัณฑ์ bayticol เป็นต้น

3.ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บประเภทปลอกคอ
ปลอกคอกำจัดเห็บเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมเห็บดี ใช่ง่าย สะดวก ป้องกันเห็บได้นาน 3 – 6 เดือนแล้วแต่ยี่ห้อ แต่มีข้อเสียคือ ราคาแพง หลังใส่แล้ว ห้ามสุนัขไปตากฝน หรือลงเล่นน้ำ เพราะจะทำให้ตัวยาละลายออกมา ส่งผลต่อฤทธิ์ในการควบคุมเห็บนั่นเอง และสุนัขบางตัวอาจเกิดการระคายเคืองจากสารฆ่าแมลงในปลอกคอได้

4.ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บประเภทหยดหลัง (spot on) และแบบสเปรย์
ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บชนิดหยดหลัง หรือ spot on และแบบสเปรย์ เป็นผลิตภัณฑ์อีกรูปแบบหนึ่งที่เจ้าของสัตว์นิยมใช้อย่างแพร่หลาย  เนื่องมาจากความสะดวกในการใช้งาน เจ้าของสามารถทำเองได้ที่บ้าน ประสิทธิภาพดี มีความปลอดภัยสูง และมีราคาให้เลือกหลากหลายตั้งแต่ไม่กี่สิบบาทไปจนถึงหลายร้อยบาท ตามแต่ชนิดของตัวยาและกลไกในการออกฤทธิ์ ยากำจัดเห็บประเภทนี้มีข้อเสียอยู่เล็กน้อยคือ แบบที่คุณภาพดีจะมีราคาค่อนข้างสูง 1 dose จะมีฤทธิ์ควบคุมเห็บหมัดได้เพียง 1 เดือน และต้องใช้ตามวิธีที่ระบุในกล่องให้ถูกต้องจึงจะได้ผล เช่น บางยี่ห้อต้องหยดหรือสเปรย์ก่อนอาบน้ำ 2-3 วัน หรือหลังอาบน้ำ 2-3วัน บางยี่ห้อต้องหยดหลายตำแหน่งบนร่างกาย หรือถ้าเป็นแบบสเปรย์ต้องสเปรย์ให้ทั่วตัว เป็นต้น ซึ่งหากใช้ไม่ถูกวิธีจะทำให้ประสิทธิภาพในการควบคุมเห็บลดลง

5.ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บประเภทยาฉีด
เป็นการใช้ยาต้านปรสิตที่มีฤทธิ์ในการกำจัดปรสิตภายนอกมาฉีดให้แก่สุนัข (extralabel use) นิยมใช้ในสถานพยาบาลสัตว์ เนื่องจาก ราคาไม่แพง และสะดวก หากทำการฉีดโดยสัตวแพทย์ ค่อนข้างมีความปลอดภัย เนื่องจากมีการคำนวณขนาดยาที่เหมาะสม แต่ยาประเภทฉีดจะมีข้อเสียคือ เห็บจะได้รับยาก็ต่อเมื่อเริ่มมีการดูดกินเลือดบนตัวสัตว์ไปแล้ว เนื่องจากยาจะอยู่ในกระแสเลือดนั่นเอง และหากทำการฉีดโดยผู้ที่ไม่มีความรู้ ไม่ได้คำนวณขนาดยาให้เหมาะสม อาจจะให้เกิดความผิดปกติจากการได้รับยาเกินขนาด หรือเกิดฝีจากกระบวนการฉีดที่ไม่สะอาดได้

6.ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บประเภทกิน
เป็นผลิตภัณฑ์อีกประเภทหนึ่งที่เจ้าของสัตว์นิยมใช้ โดยเมื่อก่อนยาควบคุมเห็บประเภทกินนั้น เป็นการลักลอบนำยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนมาจำหน่าย โดยไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัย มีผลข้างเคียงค่อนข้างสูง และจำหน่ายโดยผู้ที่ไม่ใช่สัตวแพทย์ ได้ผลในการกำจัดเห็บไม่ชัดเจน แต่ราคาถูกมาก ชายหมอ(หมา)เอง เคยเจอสุนัขป่วยหลายตัวที่มารับการรักษาโดยการได้รับยาพวกนี้เกินขนาด ซึ่งเจ้าของไปหาซื้อยามาจากตลาดนัด เพราะเห็นว่ามีราคาถูกกว่ายาที่ขายในสถานพยาบาลสัตว์ และได้รับคำแนะนำการใช้ผิดๆมา ส่วนในปัจจุบันมีการนำยากำจัดเห็บประเภทกินที่มีทะเบียนถูกต้อง มีความปลอดภัยสูง เข้ามาจำหน่ายแล้ว ให้ผลการควบคุมเห็บที่ดี ใช้ง่าย แต่ก็ยังมีข้อเสีย คือ ราคาสูงมาก และเช่นเดียวกับยาฉีด ตัวยาหลังกินเข้าไปจะอยู่ในกระแสเลือด เห็บจะได้รับยาก็ต่อเมื่อกินเลือดของสุนัขเข้าไปนั่นเอง 


การกำจัดเห็บในสิ่งแวดล้อม

นอกจากการกำจัดและควบคุมประชากรเห็บบนตัวสัตว์แล้ว ในสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกปัจจัยที่จะละเลยไม่ได้ครับ เพราะจากวงชีวิต จะเห็นได้ว่า เห็บไม่ได้อาศัยบนตัวสัตว์ตลอดเวลาแต่ตกลงมาอาศัยบนพื้นด้วย และเห็บที่พบบนตัวสัตว์นั้นเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับในสิ่งแวดล้อม ดังนั้นหากเราไม่กำจัดเห็บในสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย การกำจัดและควบคุมประชากรเห็บของเราอาจจะล้มเหลว หรือใช้เวลายาวนานกว่าจะควบคุมได้ครับ วิธีการกำจัดเห็บในสิ่งแวดล้อมนั้นมีด้วยกันหลายวิธี แต่ที่นิยมและได้ผลที่สุด คือ การใช้สารธรรมชาติ (อยู่ในระหว่างศึกษาวิจัย หรือการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์) หรือสารเคมีที่มีฤทธิ์ในการกำจัดเห็บ เช่น bayticol ผสมน้ำเพื่อเจือจางในอัตราส่วนที่เหมาะสม ฉีดพ่นทิ้งไว้ตามบริเวณบ้าน ซอก มุม หรือในสนามหญ้า เพื่อกำจัดเห็บในระยะที่อาศัยบนพื้น โดยต้องทำเป็นประจำ ซึ่งอาจจะฉีดพ่นประมาณเดือนละ 1-2 ครั้งก็เพียงพอ และในขณะที่ทำการฉีดพ่น ควรกักบริเวณสุนัขไม่ให้เข้ามาในบริเวณที่ทำการฉีดพ่นยา เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงได้รับสารพิษสู่ร่างกาย

มาถึงตรงนี้ ชายหมอ(หมา) จะขอย้ำอีกครั้งว่าการจะกำจัดและควบคุมประชากรเห็บให้ได้ประสิทธิภาพนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องควบคุมทั้งบนตัวสัตว์และในสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดเห็บในทุกระยะของการเจริญเติบโตนั่นเอง และอีกหนึ่งข้อควรปฏิบัติที่สำคัญ คือ ควรทำการกำจัดและควบคุมประชากรเห็บอย่างเป็นประจำ ไม่ใช่ทำเฉพาะเวลาเห็บระบาด หรือ พบเห็นเห็บบนตัวสุนัขเท่านั้น เพราะในความเป็นจริง โอกาสที่เราจะสามารถกำจัดเห็บให้ออกจากจากบ้านเราได้ 100% นั้นยากมาก และนอกเขตรั้วบ้านเราของเรา สถานที่ที่เราไม่สามารถควบคุมได้นั้น อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เห็บชั้นดี ดังนั้นการมีโปรแกรมควบคุมเห็บหมัดอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ จะช่วยลดโอกาสการระบาดของเห็บเข้ามายังพื้นที่บ้านของเราได้ครับ

หวังว่าเรื่องน่ารู้ที่ชายหมอ(หมา) นำมาฝากกันในตอนนี้ คงจะเป็นประโยชน์กับคุณเจ้าของสัตว์ทุกท่านนะครับ แล้วอย่าลืมรอติดตามเรื่องราวน่าสนใจในตอนถัด ๆ ไปด้วยนะครับ แล้วพบกันใหม่ในตอนหน้าครับ

บทความโดย
อ. น.สพ. ดร.เศรษฐกิตย์ จิตเสนาะ
DVM, Ph.D.(Pathobiology)