Blog

บทความน่ารู้

มาทำความรู้จักกับเห็บ...ศัตรูตัวร้ายของสัตว์เลี้ยงแสนรัก


 
สวัสดีครับ...คุณเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกท่าน กลับมาพบกับเรื่องราวน่ารู้กับชายหมอ(หมา) อีกเช่นเคยที่เว็บไซต์ Yippee Happy  ท่านที่เลี้ยงสุนัข มักจะเป็นกังวลกับเจ้าเห็บตัวเล็ก ๆ  บางครั้งวิธีการที่ใช้กำจัดเห็บนั้น เป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมในตอนนี้ชายหมอ(หมา) จะมาแบ่งปันเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับเห็บและวิธีการกำจัดเห็บอย่างมีประสิทธิภาพกันครับ

ก่อนจะเล่าถึงวิธีการกำจัดเห็บ เรามาทำความรู้จักกับเห็บ และวงชีวิตของพวกมันกันสักเล็กน้อยครับ แล้วคุณเจ้าของสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย จะเข้าใจมากขึ้นว่า ทำไมหลาย ๆ บ้านจึงกำจัดเห็บไม่หมดสักที

 

 

เห็บ เป็นปรสิตภายนอก ในกลุ่มของแมลง ที่ดำรงชีวิตอยู่โดยการมาอาศัยบนร่างกายของสัตว์เพื่อดูดเลือดไปเป็นอาหาร เห็บมีหลากหลายสายพันธุ์ และพบอาศัยอยู่บนร่างกายของสัตว์ได้หลายชนิด เช่น ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดต่าง ๆ สัตว์ปีก หรือแม้แต่กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน เป็นต้น  เห็บถูกแบ่งออกเป็น 2 ตระกูลใหญ่ ๆ ได้แก่ 

1. เห็บอ่อน  (Argasidae) 
2. เห็บแข็ง (Ixodidae) 
โดยเห็บที่ระบาดในสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสุนัขในประเทศเขตร้อนแบบบ้านเรา คือ เห็บแข็ง สายพันธุ์ Rhipicephalus sanguineus 
จากที่ชายหมอ(หมา) ได้บอกไปแล้วว่า “เห็บ” เป็นแมลง ดังนั้นพวกมันจึงมีวงจรชีวิตไม่แตกต่างไปจากแมลงชนิดอื่น ๆ คือมีการเจริญเติบโต และเปลี่ยนรูปร่างทั้งหมด 4 ระยะ ได้แก่ 
1. ระยะไข่ (egg)
2. ระยะตัวอ่อน (larvae)
3. ระยะตัวกลางวัย (nymph) 
4. ระยะตัวเต็มวัย (adult) 

ระยะไข่ (egg) – วงชีวิตของเห็บเริ่มต้นขึ้นจาก เห็บตัวเต็มวัยเพศเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์และดูดเลือดจากสุนัขจนตัวบวมเป่ง จะตกจากตัวโฮสต์ หรือตัวสุนัขลงสู่พื้น แล้วไปหาที่วางไข่บนดินโดยสถานที่ที่เห็บชอบไปวางไข่นั้น มักจะเป็นบริเวณที่ลักษณะเป็นซอก หรือเป็นมุมของบ้านอาจพบตามผนังหรือกำแพงได้ เห็บตัวเมีย 1 ตัวสามารถวางไข่ได้เฉลี่ยประมาณ 4,000 ฟอง เคยมีรายงานว่า บางตัวอาจวางไข่ได้มากถึง 7,000 ฟองเลยทีเดียว ไข่จะใช้เวลาฟักประมาณ 6 - 23 วัน กลายเป็นระยะตัวอ่อน (larvae)

ระยะตัวอ่อน (larvae) – ตัวอ่อน หรือ larvae ที่ฟักออกมาจากไข่จะมี 6 ขา เคลื่อนที่ได้อย่างว่องไว และทำการมองหาโฮสต์ (Host) เพื่อที่จะขึ้นไปดูดเลือดเป็นอาหาร ตัวอ่อนจะทำการดูดเลือดประมาณ 5 - 15 วัน จากนั้นจะตกลงจากตัวโฮสต์สู่พื้นอีกครั้ง และใช้เวลาประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ เพื่อทำการพัฒนาไปเป็นระยะตัวกลาง (Nymph) ในระยะนี้เจ้าของน้องหมาบางท่านอาจจะพบเห็บตัวเล็ก ๆตามที่นอนของน้องหมา หรือตามเฟอร์นิเจอร์ พรมเช็ดเท้าได้ครับ

ระยะตัวกลางวัย (nymph) – ตัวกลางวัย เป็นระยะที่พัฒนามาจากระยะตัวอ่อน มีขนาดตัวใหญ่ขึ้นและ มี 8 ขา เมื่อพัฒนามาเป็นระยะตัวกลางวัยแล้ว เห็บจะขึ้นไปอาศัยอยู่บนตัวโฮสต์ หรือน้องหมาอีกครั้งเพื่อทำการดูดเลือดเป็นอาหาร โดยใช้เวลาประมาณ 3 - 13 วัน จากนั้นจะตกลงจากตัวสัตว์ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์เพื่อพัฒนาเป็นตัวเต็มวัย

ระยะตัวเต็มวัย (adult) – เห็บตัวเต็มวัยทั้งตัวผู้และตัวเมีย จะต้องขึ้นไปอาศัยบนตัวโฮสต์ หรือตัวสุนัขอีกเพื่อดูดเลือด และทำการผสมพันธุ์ จากนั้นจะตกลงสู่พื้นเพื่อวางไข่ โดนวนเวียนเป็นวงชีวิตแบบนี้ไปเรื่อย โดยเฉลี่ยแล้ววงจรชีวิตของเห็บใช้เวลาประมาณ 45 - 50 วัน
เล่ามาถึงตรงนี้คุณเจ้าของสัตว์เลี้ยงคงพอจะเห็นได้ว่า วงชีวิตของเห็บนั้นค่อนข้างซับซ้อน มีการอาศัยอยู่บนตัวสัตว์และตกลงสู่พื้นถึง 3 ครั้ง ใน 1 รอบของวงชีวิต นอกจากนี้เห็บตัวเมียยังสามารถวางไข่ได้จำนวนมหาศาล สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่เจ้าของสัตว์จะต้องทำความเข้าใจ หากต้องการจะกำจัดและควบคุมประชากรเห็บอย่างมีประสิทธิภาพครับ 

    ในตอนนี้ชายหมอ(หมา) ก็ขออนุญาตจบตอนไว้ที่ตรงนี้ก่อน ในตอนหน้าเราจะมาเรียนรู้ร่วมกันถึงอันตรายของเห็บ และวิธีการกำจัดและควบคุมเห็บที่ชายหมอ(หมา) รับรองว่า หากคุณเจ้าของสัตว์เลี้ยงทำตาม จะต้องเห็นผลอย่างแน่นอนครับ แล้วพบกันครับ


บทความโดย
อ. น.สพ. ดร.เศรษฐกิตย์ จิตเสนาะ
DVM, Ph.D.(Pathobiology)

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.cdc.gov/ticks/pdfs/Rhipicephalus-sanguineus-LifeCycle.pdf