Blog

บทความน่ารู้

รู้หรือไม่?...ทำไมแมวถึงชอบข่วนและกัด !!

จริง ๆ แล้วแมวส่วนใหญ่ตามธรรมชาติเป็นพวกรักสงบ มักหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ต้องทำให้กัดหรือข่วน แต่ถ้าใครเป็นทาสแมวก็คงเคยโดนกัดหรือข่วนมาบ้าง (หรือเป็นประจำ) นอกจากทำให้เจ็บตัวได้แล้ว รอยกัดหรือข่วนอาจติดเชื้อขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นถ้าเลี่ยงไม่ให้โดนกัดหรือข่วนตั้งแต่แรกจะดีที่สุด

เสียงของแมว สามารถบอกได้ว่า ตอนนั้นเจ้าขนปุยกำลังอยู่ในอารมณ์ไหน นอกจากนี้แล้วเรายังสามารถสังเกตจากลักษณะท่าทางอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ด้วย เช่น หูลู่ไปข้างหลัง ทำเสียงขู่ หางตก นั่นหมายถึง “อยู่ห่าง ๆ ฉันเดี๋ยวนี้” หากเจ้าเหมียวอยู่ในอารมณ์นี้แล้วล่ะก็…พยายามเลี่ยงไว้ให้ดี ไม่เช่นนั้นคุณอาจจะโดนกัดเข้าอย่างจังจนได้แผลกันเลยทีเดียว แบบนี้แหละที่เรียกว่า กัดจริง ไม่ได้หยอกนะจ๊ะ

การสังเกตอาการ
เมื่อเจ้าเหมียวเริ่มมีความรู้สึกรำคาญ พวกเขาจะเริ่มแสดงอาการเป็นการส่งสัญญาณ เช่น หลี่ตาและหูลู่ไปข้างหลัง การหลีกเลี่ยงที่จะโดนพวกเขากัดหรือข่วนนั้น มีกฎอยู่ว่า คุณต้องค่อยสังเกตปฏิกิริยายาของเจ้าเหมียว และหยุดสิ่งที่คุณทำอยู่เมื่อเจ้าเหมียวเริ่มมีทีท่าแสดงความไม่พอใจ แมวบางตัวก็จะมีปฏิกิริยาเมื่อเราลูบท้องพวกเขาเป็นเวลานานเกินไป หรือลูบคลำใกล้หางพวกเขามากเกินไป เราควรที่จะเรียนรู้ว่าอะไรที่ทำให้น้องแมวของคุณสนุกหรือไม่สนุก และเปลี่ยนแปลงไปตามสไตล์ของพวกเขา
 
วิธีการฝึกเจ้าเหมียวให้เลิกกัดและข่วน
บางครั้งถ้าแมวเหมียวของคุณกัด และข่วนจนเป็นนิสัย อาจจะเป็นเรื่องยากที่เจ้าของจะฝึกให้เจ้าเหมียวเลิกนิสัยเหล่านี้ คุณอาจจะต้องใช้เวลาและความอดทนเป็นอย่างมาก แต่คุณสามารถสอนแมวของคุณได้ว่า คุณไม่ต้องการเป็นเป้าหมายการโจมตี แม้ว่าน้องแมวจะเข้าใจว่าเป็นเวลาเล่นก็ตาม

1. ใจเย็น ๆ อย่าตี ตะคอก ไล่กวด หรือฟิวส์ขาดใส่แมว เพราะมีแต่จะทำให้แมวยิ่งตื่น ทำให้แมวเครียดและสับสนกว่าเดิม อย่าเรียกแมวมาหาเพื่อลงโทษ เพราะแมวไม่เข้าใจว่าทำไมอยู่ ๆ คุณทำร้ายมัน แมวรู้แต่ว่าเวลาคุณเรียกมาหา จะให้อาหารหรือลูบเล่นเท่านั้น

2. ถอยห่าง สิ่งแรกที่ควรทำคือเลิกแตะต้องแมว แล้วเอามือออกห่างจากระยะโจมตี ถ้าใน 2 - 3 วินาทีแมวยังไม่สงบลง ให้ลุกขึ้นยืนช้าง ๆ ให้แมวลงจากตัก จากนั้นเดินห่างออกไป อย่ากลับมาหาจนกว่าแมวจะสงบลง
อย่าปลอบแมวหลังคุณโดนกัดหรือข่วน แต่ให้แสดงออกว่าคุณไม่พอใจ พอฝึกระเบียบแมวเสร็จ อย่าเพิ่งเข้าไปกอดหรือลูบแมว เพราะแมวจะสับสน เหมือนคุณส่งสัญญาณไม่เคลียร์ คราวหน้าคุณอาจโดนเหมียวกัดเพราะนึกว่าจะถูกกอดตามหลังก็ได้

3. อย่าต้อนแมวจนมุม ถ้าพยายามจะออกจากห้องนี้ไปห้องอื่น แต่เหมียวขู่ฟ่อขวางทางอยู่ ให้หยุดแล้วเอาใจแมวมาใส่ใจคน ที่เป็นแบบนั้นเพราะแมวคิดว่าคุณดักไว้แล้วย่างสามขุมเข้าไปหาเรื่อง รู้สึกไม่ปลอดภัยนั่นเอง จริง ๆ แมวก็อยากหนีไปนั่นแหละ แต่หาทางไม่เจอ เลยต้องจู่โจมคุณเพื่อป้องกันตัว ทางแก้ง่าย ๆ คือให้คุณถอยห่างออกไป ปล่อยให้แมววิ่งไปตามต้องการ  หลังแมวกัดหรือข่วน อย่าเพิ่งให้อาหารภายใน 20 นาที เพราะจะกลายเป็นตบรางวัลเพราะทำร้ายคุณซะอย่างนั้น

4. อะไรทำให้พฤติกรรมแมวเปลี่ยนไป แมวจะตอบสนองต่อพฤติกรรมในแง่ดีมากกว่า เช่น ให้คำชมหรือรางวัลที่ทำตัวดี แต่ถ้าเป็นพฤติกรรมด้านลบ แมวจะนิ่งเฉยหรือตีตัวออกห่างให้แมวเล่นตุ๊กตาหนูยัดไส้แคทนิป (กัญชาเเมว) ดีกว่าปล่อยมาแทะมือคุณ จากนั้นก็ชมว่าแมวเก่งมากที่ฟัดของเล่น

5. ใช้เสียงกับท่าทาง พอแมวกัดหรือข่วนเมื่อไหร่ ให้พูดเสียงดังฟังชัดว่า....อย่า!...พลางชี้นิ้วใส่ด้วย จ้องมองตาแมวตรง ๆ ทำหน้าตาท่าทางโหด ๆ หน่อย ให้แมวรู้ว่าไม่พอใจ วิธีนี้ได้ผลเพราะในสังคมแมว การจ้องหน้ากันแบบนี้คือขู่จะเอาเรื่องนั่นเอง แล้วให้พาตัวเองออกจากระยะโจมตีของแมว และไม่ต้องใส่ใจแมวสัก 10 นาที

6. ใช้วิธีตบมือ พอแมวกัดหรือข่วนเมื่อไหร่ ให้ตบมือดัง ๆ พร้อมร้องว่า....อย่า!....แบบเสียงดังฟังชัด ห้ามตะคอก ตะโกน หรือตบมือใส่หน้าแมวเด็ดขาด จะกลายเป็นทำแมวกลัว หรือเครียดแทน ให้ทำซ้ำแบบนี้ทุกครั้งที่แมวกัดหรือข่วน แมวจะรู้ตัวเองว่าต้องหยุดพฤติกรรม วิธีนี้เหมาะกับแมวเจ้าเล่ห์ จอมบงการ หรือก้าวร้าวบ้าพลัง ถ้าเป็นเหมียวขี้กลัว ขี้อาย ไม่ควรทำวิธีนี้ เพราะพฤติกรรมอาจแย่กว่าเดิม

7. เฉยใส่. พอแมวหยุดกัดหรือข่วนเมื่อไหร่ ให้ลุกขึ้นแล้วเดินออกไปแบบไม่แคร์ อย่าไปตอแยต่อ ทิ้งแมวไว้ตัวเดียว อย่าให้ใครไปยุ่งสัก 5 - 10 นาที จากนั้นทำซ้ำทุกครั้งที่แมวกัดหรือข่วนคุณ แมวจะเริ่มเชื่อมโยงพฤติกรรมแย่ ๆ ของตัวเองกับการถูกคนละเลย ไม่ใส่ใจ วิธีนี้อาจจะใช้ไม่ได้ผลกับแมวทุกตัว ใช้ได้เฉพาะแมวที่ติดคนเท่านั้น เพราะจะผิดสังเกตทันทีว่าทำไมถึงไม่มีทาสมาคอยเอาใจ รวมถึงพวกลูกแมวด้วย เพราะอยู่ในวัยเรียนรู้
 
วิธีป้องกันไม่ให้แมวกัดหรือข่วน
1.  สอนลูกแมวให้รู้ขอบเขตเวลาเล่น  วิธีนี้ต้องดราม่าหน่อย คือพอเล่นด้วยแล้วแมวกัด ให้เล่นใหญ่ร้องเสียงหลง ชักมือออกโดยไว ปิดท้ายด้วยลุกขึ้นแล้วเดินหนีไป ทั้งหมดนี้บอกให้ลูกแมวรู้ว่าหมดเวลาสนุกแล้วสิ ถ้าทำซ้ำบ่อย ๆ ลูกแมวจะเรียนรู้ได้เอง ว่ากัดมือคุณเมื่อไหร่ เวลาเล่นแสนสนุกสนานจะหยุดลงทันที เลยไม่กล้าทำอีก  แต่ถ้าลูกแมวขบเบา ๆ ด้วยความรัก แต่คุณไม่อยากให้ติดนิสัย ก็ต้องเอามือดันสู้เบา ๆ แมวจะรู้สึกรำคาญ ไม่สะดวก ก็เลยเลิกกัด ส่วนการกระชากมือออกทันทีตอนแมวเล่นแล้วกัดหรือตะปบ จะกลายเป็นชวนแมวเล่นแรง เดี๋ยวจะเจ็บตัว

2.  หาของเล่นให้แมว จะได้ไม่บ้าพลังใส่มือหรือนิ้วคุณ รู้อยู่ว่าเวลาแมวเล่นแล้วจะคึกจนลืมออมแรง บางทีก็จิกคุณจนเจ็บแสบ หรือบางทีก็เล่นต่อจนเผลอข่วนคุณโดยไม่ตั้งใจ แก้ได้โดยหาของเล่นที่ยื่นห่างออกไปจากมือ เช่น เบ็ดตกปลาของเล่น (ของเล่นผูกปลายเชือก) ปากกาเลเซอร์ หรือตุ๊กตาหนูยัดไส้แคทนิป แมวกัด แทะ จิก ข่วน เพราะเล่นสนุก หรือฝึกล่าเหยื่อก็ถือเป็นเรื่องปกติ แค่อย่ามาลับเล็บที่คุณก็พอ ให้ชวนแมวเล่นโดยใช้เบ็ดล่อแมว (ของเล่นผูกเชือกปลายไม้) แบบนี้มือคุณก็ปลอดภัยแน่นอน

3.  หาเวลาเล่นกับแมวบ่อยๆ จัดเวลาเล่น 5 - 10 นาทีต่อวันโดยล่อให้แมวไล่ตามของเล่นที่ปลายเบ็ด ชวนแมวเล่นจนพลังหมด หลักการคือกระตุ้นสัญชาตญาณนักล่าของแมว และล่อให้แมวเล่นจนเหนื่อยในคราวเดียว พอแมวหมดพลังก็จะไม่ค่อยโจมตีคุณมากเท่าแมวขี้เบื่อที่พลังงานเหลือเฟือจนไปปล่อยพลังผิดที่ผิดทาง

4.  ทำหมันแมวดีกว่า แมวที่ยังไม่ทำหมันจะหวงถิ่นกว่าแมวที่ทำหมันแล้ว แต่ใช่ว่าแมวที่ยังไม่ทำหมันจะต้องก้าวร้าวเสมอไป แค่พอไปทำหมันแล้วแมวจะสงบลง เลยน่ารักอ่อนโยน และติดบ้านขึ้น

5.  รู้จักสัญญาณอันตรายก่อนแมวออกลาย สังเกตดูจะเห็นรูม่านตาแมวขยายใหญ่ขึ้น ขนตั้งชัน ไม่ครางอ้อนอีกต่อไป แต่เปลี่ยนเป็นเสียงร้องต่ำ ๆ คำราม บางตัวก็เงียบผิดปกติ ร้องเสียงสูง บ่น หรือขู่แทน นอกจากนี้หูจะลู่ไปด้านหลัง จนแบนราบไปกับหัว หนวดก็จะชี้ไปด้านหน้า เผยอริมฝีปากโชว์เขี้ยวพองาม (พร้อมขู่ฟ่อไปด้วย)   จริง ๆ ตอนแมวเล่นก็ตาดำใหญ่เหมือนกัน เพราะกำลังคึก อย่าเพิ่งเหมารวมไปหมด ต้องสังเกตท่าทางอื่น ๆ ควบคู่กันไป อย่างถ้าแมวนั่งตัก ไม่ได้กำลังคึก แล้วตาใหญ่ขึ้นมา อันนี้ต้องระวังตัว  ถ้าแมวถูกต้อนจนมุม มักจะหมอบต่ำ ระแวงมองซ้ายขวา เหมือนกำลังหาทางหนีทีไล่  

บทความอ้างอิง : wikihow.com, thesprucepets.com