Blog

บทความน่ารู้

เมื่อสุนัขถูกงูกัดต้องทำอย่างไร

ถ้าสุนัขที่คุณรักถูกงูกัดจะทำอย่างไร ?
อย่างที่เราทราบกันดีว่า งูนั้นมีทั้งแบบมีพิษ และไม่มีพิษ
สำหรับสัตว์เลี้ยงที่ถูกงูที่ไม่มีพิษกัดถ้าไม่ได้ถูกกัดที่อวัยวะสำคัญ และความเสียหายของบาดแผลไม่ได้รุนแรงมาก ก็ไม่อาจทำอันตรายให้สัตว์เลี้ยงถึงแก่ชีวิตได้
แต่ถ้าหากว่าสัตว์เลี้ยงของเราถูกงูพิษกัด อันตรายถึงแก่ชีวิตก็อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี และทันท่วงที ซึ่งระยะเวลาตั้งแต่เริ่มถูกกัดจนถึงสัตว์แสดงอาการนั้นอาจแตกต่างกันไป
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิด และขนาดของงูพิษ ปริมาณพิษที่ถูกปล่อยเข้าสู่ร่างกาย และสภาพร่างกายของสัตว์ที่ถูกพิษ ซึ่งในสุนัขอาจมีระยะเวลาตั้งแต่ 10 นาที จนถึง 72 ชั่วโมง และในแมวตั้งแต่ 12 ชั่วโมง จนถึง 36 ชั่วโมงก็เป็นได้
ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่างูที่กัดเป็นงูมีพิษ หรือไม่มีพิษ ซึ่งสามารถสังเกตได้ง่าย ๆ โดยดูจากรอยที่ถูกกัด หากเป็นงูมีพิษ จะเป็นรอยลึก1-2 รอย แต่ถ้าเป็นงูไม่มีพิษ จะปรากฏรอยฟันมากมาย

ทำไมการทราบชนิดงูที่กัดจึงมีความสำคัญ ?

เพราะถ้าคุณทราบชนิดของงูจะทำให้สัตวแพทย์ที่ทำการรักษาสามารถให้เซรุ่มแก้พิษงูที่ตรงกับชนิดงูที่กัดได้อย่างทันท่วงที แต่ถ้าไม่ทราบชนิดงูที่แน่นอน หรือไม่แน่ใจว่าโดนกัด จะไม่สามารถให้เซรุ่มได้ต้องรอสังเกตอาการเพราะถ้าให้เซรุ่มไปแต่ไม่ตรงกับชนิดที่ถูกกัดย่อมเกิดผลเสียแน่นอน

สิ่งที่คุณควรทำเมื่อสุนัขถูกงูกัด
          1. ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือ เพื่อดูว่ามีรอยเขี้ยวพิษงูหรือไม่ ถ้าเป็นงูพิษ จะมีรอยเขี้ยวเป็นรอยลึก 1 หรือ 2 รอย  ถ้ากัดครั้งเดียว
          2. เมื่อพบว่าเป็นรอยเขี้ยว ให้ใช้ผ้าพันแผล พันจากแผลแล้วพันต่อไปถึงข้อต่อ จากนั้นหาไม้กระดานมาดาม แล้วพันด้วยผ้าพันแผลทับอีกครั้ง เพื่อให้สัตว์ป่วยเคลื่อนไหวได้น้อยที่สุด พิษจะกระจายช้าลง
          3. นำสัตว์ป่วยส่งโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้โดยเร็วที่สุด เพื่อรับการรักษาโดยใช้เซรุ่มแก้พิษงูต่อไป
          4. หากไม่ทราบชนิดงู แต่มีซากงูให้ใส่ถุงพลาสติก และนำมาให้สัตวแพทย์ที่ทำการรักษาด้วย

สิ่งที่คุณไม่ควรทำ
          1. ไม่ควรใช้ไฟจี้ หรือมีดกรีดบาดแผล เพราะจะทำให้วินิจฉัยลำบากเวลาดูแผล
          2. ไม่ควรใช้ปากดูดเพราะนอกจากไม่ได้ผลแล้วยังจะทำให้ติดเชื้อได้
          3. ไม่ควรใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เทลงบนบาดแผล
          4. ไม่ควรใช้เชือกรัดแน่นเหนือบาดแผลเพราะจะทำให้ส่วนที่อยู่ใต้เชือกขาดเลือดมาเลี้ยง จนเกิดเป็นเนื้อตายได้ การคลายเชือกเป็นระยะก็ไม่ควรทำเพราะจะทำให้พิษกระจายได้เร็วเช่นกัน

ลักษณะอาการที่สามารถพบได้เมื่อถูกงูพิษกัด
งูเห่า งูจงอาง
อาการต่อระบบประสาท ได้แก่ หนังตาตก กลืนลำบาก อัมพาตแขนขาและหยุดหายใจ อาการเฉพาะบริเวณที่ถูกกัดจะบวม ตามด้วยเนื้อตายและลุกลาม

งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา
อาการระบบประสาท ได้แก่ หนังตาตก กลืนลำบาก อัมพาตแขนขาและหยุดหายใจ อาการเฉพาะบริเวณที่ถูกกัดจะมีน้อย

งูทะเล 
อาการระบบประสาทและกล้ามเนื้อสลายตัว ไตวายเฉียบพลัน อาการเฉพาะบริเวณที่ถูกกัดจะมีน้อย

งูแมวเซา
ระบบโลหิต เลือดออกตามอวัยวะสำคัญ เช่นทางดินอาหาร สมอง และมีไตวายเฉียบพลัน อาการเฉพาะบริเวณที่ถูกกัดจะบวมไม่มาก

งูกะปะ
ระบบโลหิต เลือดออกตามไรฟัน ปัสสาวะเป็นเลือด บวมชัดเจน เลือดออกตรงรอยกัด อาการเฉพาะบริเวณที่ถูกกัดจะมีตุ่มน้ำเลือดขนาดใหญ่และจำนวนมาก

งูเขียวหางไหม้
ระบบโลหิต เลือดออกตามไรฟัน ปัสสาวะเป็นเลือด อาการเฉพาะบริเวณที่ถูกกัดจะบวมมาก เลือดออกตรงรอยกัด มีตุ่มน้ำใสและตุ่มน้ำเลือด

การรักษา
โดยทั่วไปการรักษาพิษงูก็คือการใช้เซรุ่มพิษงู ซึ่งถือเป็นรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบัน พิษงูที่มีจำหน่ายโดยผลิตขึ้นจากสถานเสาวภามีทั้งสิ้น 7 ชนิดด้วยกัน คืองูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซาและงูกะปะ นอกจากนี้ยังมีพิษงูแบบรวมซึ่งรวมกลุ่มการออกฤทธิ์ด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มที่การออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท (งูเห่า จงอาง สามเหลี่ยม ทับสมิงคลา) และงูที่มีฤทธิ์ต่อระบบไหลเวียนโลหิต (งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซาและงูกะปะ) ที่ต้องมีแบบชนิดรวมเนื่องจากในบางครั้งหากเจ้าของไม่สามารถอธิบายลักษณะของงูได้เลย แพทย์ หรือสัตวแพทย์ก็จะต้องอาศัยการดูอาการในการเลือกใช้เซรุ่มให้ถูกต้อง

เซรุ่มที่ถูกผลิดขึ้นโดยสภากาชาดไทยในปัจจุบันใช้การผลิตจากเลือดของม้าเป็นหลัก โดยทำการฉีดพิษงูเข้าสู่ม้าแล้วเจาะเลือดเพื่อเก็บมาทำเซรุ่มนั่นเอง ข้อเสียคือเซรุ่ม หรือภูมิคุ้มกันจากวิธีนี้ มีโอกาสที่จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ และมีความคงตัวต่ำ ไม่สามารถเก็บเอาไว้เผื่อได้ บางโรงพยาบาลอาจไม่มีขณะนั้น นอกจากนี้ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือปัจจุบันมีการค้นพบสายพันธุ์ใหม่ๆของงู ซึ่งในต่างประเทศ แม้กระทั่งงูชนิดเดียวกันอาจจะให้ผลในการรักษาไม่ 100% ก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามในประเทศไทยยังไม่พบรายงานดังกล่าว เช่นกัน

บทความอ้างอิง
honestdocs.co,  pet.kapook