Blog

บทความน่ารู้

โดนน้องแมวข่วน....ไม่ใช่แค่เรื่องเล่น ๆ อีกต่อไป


สวัสดีครับ คุณเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกท่าน กลับมาพบกับชายหมอ(หมา) และเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับการดูแลสัตว์ที่เว็บไซต์ Yippee Happy กันอีกเช่นเคย
 
สำหรับทาสแมว หรือคนที่อดใจในความน่ารักของน้องแมวไม่ไหว เข้าไปเล่นกับเจ้าเหมียวแล้วโดนข่วนจนเป็นแผล บางคนอาจไม่คิดอะไรเพราะแผลก็ไม่ได้ใหญ่ แต่รู้ไหมว่าโรคจากแมวมีทั้งพิษสุนัขบ้า และโรคแมวข่วนที่อาจทำให้เนื้อเน่า หรือติดเชื้อในกระแสเลือดได้เลย  บทความนี้จะพูดถึงโรคแมวข่วน (Cat Scratch Disease) กันนะครับว่ามีอันตรายอย่างไร และเมื่อโดนน้องแมวข่วนแล้วต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

โรคแมวข่วน หรือไข้แมวข่วน  เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bartonella henselae ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในแมว และสามารถติดต่อสู่คนได้ แมวถือว่าเป็นตัวกักโรคที่สามารถติดเชื้อนี้ได้โดยธรรมชาติ (natural reservoir)  โดยการแพร่เชื้อระหว่างแมวด้วยกันจะติดผ่านตัวกลาง คือ หมัด (Flea) และยังพบว่าสามารถติดต่อกันได้จากการกัด หรือข่วนกันกับแมวที่ติดเชื้อ ส่วนการติดต่อสู่คนเกิดขึ้นได้ผ่านทางการกัด การข่วน หรือการถูกแมวที่ติดเชื้อเลียบาดแผลก็สามารถทำให้ติดเชื้อดังกล่าวนี้ได้ครับ
 
ในคนที่ได้รับเชื้อ ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยอาจมีอาการตั้งแต่ มีตุ่มแดงอักเสบในบริเวณที่ถูกกัดหรือข่วน มีไข้ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ต่อมน้ำเหลืองบวมโดยเฉพาะบริเวณใต้รักแร้ ในผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะเป็นแบบไม่รุนแรงมาก แต่ในบางรายอาจพบอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ มีรายงานในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องว่าสามารถพบความผิดปกติของหลอดเลือดที่ผิวหนังเกิดเป็นตุ่มนูนที่ผิวหนัง (angiomatosis) หรือมีลักษณะเป็นก้อนซีสต์ในเนื้อตับ (peliosis) เป็นต้น

สำหรับในแมว ชายหมอ(หมา) ขออธิบายแบบนี้ครับ ด้วยความที่แมวเป็นตัวกักโรค  โดยธรรมชาติของเชื้อนี้ จึงทำให้แมวส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อนี้มักไม่แสดงอาการเจ็บป่วย แต่ก็มีรายงานว่าแมวบางตัวพบการอักเสบของหัวใจ การติดเชื้อในช่องปาก ตา และระบบทางเดินปัสสาวะจากการติดเชื้อชนิดนี้ แม้ว่าเราจะไม่สามารถสังเกตอาการของแมวที่ติดเชื้อชนิดนี้ได้ แต่ชายหมอ(หมา) มีข้อมูลที่น่าสนใจนำมาให้ลองพิจารณากันครับ นั่นก็คือ ระบาดวิทยาของการติดเชื้อแบคทีเรีย Bartonella henselae  

โดยทีมนักวิจัยทำการศึกษาในแมวที่มีเจ้าของ และได้รับการดูแลจากเจ้าของอย่างดี ไม่พบหมัดบนตัว(ในขณะทำการตรวจ)  ในเขตกรุงเทพมหานครแมวจำนวน 200 ตัว พบว่ามี 10 ตัวที่มีการติดเชื้อชนิดนี้ เห็นตัวเลขแล้วอาจจะไม่ตกใจ ดูไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ แต่เดี๋ยวก่อนครับ อย่าลืมว่าแมวเหล่านี้ คือ แมวที่เจ้าของดูแลเป็นอย่างดีนะครับ ยังมีโอกาสติดเชื้อนี้ตั้ง 5% เลยครับ แล้วแมวอื่น ๆนอกจาก 200 ตัวนี้ล่ะ อาจจะไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมก็ได้ครับ ไหนจะแมวจรจัด แมวริมถนนอีกมากมาย แมวเหล่านี้ย่อมมีโอกาสในการติดเชื้อสูงกว่าแน่นอน ในต่างประเทศมีรายงานว่าอาจมากถึง 40% ของแมวจะพบเชื้อนี้อยู่ในร่างกายเลยทีเดียวครับ ดังนั้นต้องเริ่มให้ความสำคัญกับโรคนี้แล้ว

อ่านมาถึงตอนท้ายนี้ คุณเจ้าของคงเริ่มรู้สึกกลัว และอยากรู้แล้วใช่ไหมครับว่า เราจะมีวิธีป้องกันการติดเชื้อนี้จากแมวได้อย่างไร ไม่ยากครับ มีดังนี้
1. หากที่บ้านของเราเลี้ยงแมว ต้องควบคุมหมัดอย่างเคร่งครัด และสม่ำเสมอ โดยเลือกใช้วิธีการหรือผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม 
2. เล่นกับแมวด้วยความระมัดระวัง อย่าให้โดนข่วนหรือโดนกัด รวมถึงอย่าให้แมวเลียในบริเวณที่มีบาดแผล
3. หากไม่จำเป็น ไม่ควรเล่นกับแมวจรจัด หรือแมวข้างถนน เนื่องจากไม่ทราบประวัติการดูแลและอาจถูกกัดหรือข่วนได้ง่าย
4. หากถูกแมวข่วนหรือกัด ให้รีบล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำเกลือล้างแผล หรือฟอกสบู่
5. หากแผลมีการอักเสบ และมีไข้ เบื่ออาหาร หรือต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้บวม ควรรีบไปพบแพทย์และอย่าลืมเล่าประวัติการถูกแมวกัดหรือข่วน เพื่อให้แพทย์ใช้เป็นข้อมูลในการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง

สาระความรู้ที่ชายหมอ(หมา) นำมาแบ่งปันกันในตอนนี้ หวังว่าจะทำให้คุณเจ้าของสัตว์ทุกท่านมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคแมวข่วนมากขึ้น และนำไปปรับใช้เพื่อป้องกันทั้งตัวเราและตัวสัตว์ไม่ให้ป่วยเป็นโรคนี้นะครับ สำหรับตอนนี้ ชายหมอ(หมา) คงต้องขอลาไปก่อน เเล้วพบกันใหม่ที่เว็บไซต์ของ Yippee Happy นี้นะครับ


บทความโดย
อ. น.สพ. ดร.เศรษฐกิตย์ จิตเสนาะ
DVM, Ph.D.(Pathobiology)

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
1. https://www.cdc.gov/healthypets/diseases/cat-scratch.html 
2. Satranarakun, P., Maruyama, S., Kabeya, H., Sato, S., Jitapalapong, S., Jitchum, S., Jiyipong, T., Rodkhum, C. and Pusoonthornthum. 2016. Prevalence of Bartonella infection in well-cared cats in Bangkok metropolitan. Thai J Vet Med. 46(4): 555-560.