Blog

บทความน่ารู้

ว่าด้วยเรื่องของ...สถานพยาบาลสัตว์ ตอนที่1


สวัสดีครับ คุณเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกท่าน กลับมาพบกับชายหมอ(หมา)ที่เว็บไซต์ Yippee Happy กันอีกเช่นเคย และแน่นอนว่า ชายหมอ(หมา) ก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจนำมาแบ่งปันกันเหมือนเช่นทุกครั้ง สำหรับในตอนนี้ ชายหมอ(หมา) จะขอเล่าเรื่องเกี่ยวกับ...สถานพยาบาลสัตว์ครับ

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “ สถานพยาบาลสัตว์ ” คุณเจ้าของหลายท่านอาจจะยังงง ๆ  เหมือนจะคุ้น ๆ แต่ก็ไม่แน่ใจกันใช่ไหมครับ แต่ถ้าชายหมอ(หมา)ใช้คำอื่นแทน เช่น คลินิกรักษาสัตว์ หรือโรงพยาบาลสัตว์ คงจะเริ่มร้องอ๋อ...กันแล้วแน่ ๆ
 
ใช่แล้วครับ สถานพยาบาลสัตว์ คือ สถานที่ที่คุณเจ้าของทั้งหลาย พาสัตว์เลี้ยงไปพบคุณหมอทั้งในเวลาที่ป่วย และไม่ป่วยนั่นเองครับ ในปัจจุบันมีสถานพยาบาลสัตว์ผุดขึ้นมากมายไม่แพ้ร้านสะดวกซื้อ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก ที่คุณเจ้าของสัตว์ทั้งหลายจะต้องรู้ว่า สถานพยาบาลสัตว์ที่เปิดอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นอย่างไร จะได้ไม่พาลูก ๆ ของเราไปรักษาที่สถานพยาบาลสัตว์เถื่อนนะครับ ส่วนคลินิกไหนรักษาดี หรือไม่ดีอย่างไร อันนี้ก็ต้องแล้วแต่ดุลยพินิจของแต่ละท่านนะครับ

สถานพยาบาลสัตว์ที่เปิดอย่างถูกกฎหมายนั้น ไม่ใช่อยากจะเปิดเมื่อไหร่ หรือใครเป็นคนเปิดก็ได้นะครับ ต้องทำการขออนุญาตจัดตั้ง และดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์ จากกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ให้ถูกต้องเสียก่อนครับ โดยผู้ที่จะทำการขออนุญาตนั้นจะต้องมีลักษณะต่าง ๆ ตามที่ประกาศไว้ในพระราชบัญญัติสถานพยาบาลสัตว์ พ.ศ.2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติสถานพยาบาลสัตว์ (ฉบับที่2) พ.ศ.2557 

โดยคุณสมบัติที่สำคัญก็คือ 

ข้อแรก จะต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์นะครับ แบบชายหมอ(หมา) เป็นต้น 

ข้อสอง จะต้องไม่เป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์เป็นจำนวนสองแห่งอยู่แล้ว (แต่ในกรณีที่เป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์ประเภทที่มีที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืนอยู่แล้วหนึ่งแห่ง จะอนุญาตให้เป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์ประเภทที่มีที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืนอีกไม่ได้ เว้นแต่จะอนุญาตให้เป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์ประเภทที่ไม่มีที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืน) 

ข้อสาม ต้องเป็นผู้ที่สามารถควบคุมดูแลกิจการของสถานพยาบาลสัตว์นั้นได้โดยใกล้ชิด ไม่ใช่ว่าขออนุญาตอย่างเดียว แต่ไม่ดูแลเลยนะครับ

สิ่งต่อมาที่ต้องรู้ก็คือ สถานพยาบาลสัตว์มีกี่ประเภท ชายหมอ(หมา)ขออนุญาตตอบตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาลสัตว์เลยนะครับ ว่าแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ เชื่อว่าทุกท่านคงเดาว่า หมายถึง คลินิก กับ โรงพยาบาล ถูกไหมครับ นั่นคือชื่อเรียกสถานพยาบาลครับ แต่ข้อมูลที่ถูกต้องคือ แบ่งออกเป็น สถานพยาบาลสัตว์ประเภทที่มีที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืน และไม่มีที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืนต่างหากครับ 

นอกจากนี้สถานพยาบาลสัตว์ที่มีที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืนก็สามารถแบ่งย่อยได้อีกตามจำนวนสัตว์ที่รับไว้ค้างคืนครับ คือไม่เกิน 10 ที่  และเกิน 10 ที่ ซึ่งสถานพยาบาลสัตว์ทั้งสองประเภทนี้ จะมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ขนาด จำนวนบุคลากร อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ครับ โดยสถานพยาบาลสัตว์แต่ละแห่ง จะต้องมีป้ายระบุอย่างชัดเจนติดไว้ครับว่าเป็นสถานพยาบาลสัตว์ประเภทไหน ดังนั้นหากคุณเจ้าของต้องการจะฝากรักษา หรือ ฝากเลี้ยงน้องหมา น้องแมว จะต้องเลือกสถานพยาบาลประเภทที่ระบุว่ามีที่พักสัตว์ป่วยค้างคืนเท่านั้น ถึงจะได้มาตรฐาน และผ่านการอนุญาต และตรวจจากกรมปศุสัตว์นะครับ
 

ทีนี้ เรามารู้จักสถานพยาบาลสัตว์แต่ละประเภทกันว่า มีความแตกต่างกันอย่างไร 

สถานพยาบาลสัตว์ประเภทไม่มีที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืน
สถานพยาบาลสัตว์ประเภทนี้ ส่วนใหญ่มักมีขนาดที่ไม่ใหญ่นัก  ไม่มีการให้บริการที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืน ดำเนินการรักษาโดยได้มาตรฐานการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ตามที่สัตวแพทย์สภากำหนด มีความสะดวก และปลอดภัยในการให้บริการ และจะต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง เป็นผู้ให้บริการตลอดเวลาเปิดทำการ จำนวนอย่างน้อย 1 คน  และอาจจะมีผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นสองด้วยก็ได้ นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดอีกมากมาย ซึ่งหากคุณเจ้าของสนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากกฎกระทรวง เรื่อง กำหนดลักษณะของสถานพยาบาลสัตว์ และลักษณะการให้บริการของสถานพยาบาลสัตว์ พ.ศ.  ๒๕๖๐ ครับ

สถานพยาบาลสัตว์ประเภทมีที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืน
มีลักษณะที่แตกต่างกันทั้งในด้านของขนาดซึ่งถูกกำหนดมาว่าให้มีพื้นที่มากกว่าแบบแรก มีลักษณะทั่วไปเหมือนกันกับแบบสถานพยาบาลสัตว์แบบไม่มีที่พักสัตว์ป่วยค้างคืน และมีลักษณะการดำเนินการหลายอย่างเพิ่มเข้ามา เช่น ให้บริการที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืน และจัดให้มีเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลสัตว์  ดูแลสัตว์ป่วย อย่างเพียงพอ  ต้องมีเวลาเปิดทำการไม่น้อยกว่าสิบชั่วโมงต่อวัน มีการให้บริการตรวจค่าทางโลหิตวิทยา และค่าเคมีโลหิต ในกรณีที่มีให้บริการแผนกสัตว์ป่วยฉุกเฉิน  จะต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์   อยู่ประจำแผนกอย่างน้อยหนึ่งคน และมีที่เก็บกักน้ำเพื่อสำรองไว้สำหรับสัตว์ป่วยที่รับไว้ค้างคืนในปริมาณที่พอเพียง นอกจากนี้ก็ยังมีข้อกำหนดอีกหลายข้อตามกฏกระทรวงเช่นกันครับ 

สถานพยาบาลสัตว์ประเภทมีที่พักสัตว์ป่วยไว้ค้างคืนนั้น สามารถแบ่งย่อยได้อีกตามจำนวนของที่พักสัตว์ป่วย โดยแบ่งออกเป็นสถานพยาบาลสัตว์แบบมีที่พักสัตว์ป่วยค้างคืนไม่เกิน 10 ที่ และ แบบเกิน 10 ที่ ซึ่งทั้งสองแบบนี้จะมีข้อกำหนดเรื่องจำนวนบุคลากรที่แตกต่างกัน
1. สถานพยาบาลสัตว์แบบมีที่พักสัตว์ป่วยค้างคืนไม่เกิน 10 ที่ จะต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่งเป็นผู้ให้บริการตลอดเวลาเปิดทำการ จำนวนอย่างน้อย 1 คน คล้ายกับแบบไม่มีที่พักสัตว์ป่วยค้างคืน แต่ที่เพิ่มเข้ามา คือ ต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง  เป็นผู้ดูแลสัตว์ป่วยที่รับไว้ค้างคืนตลอดเวลา  จำนวนอย่างน้อย 1 คน  และอาจจะมีผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นสองด้วยก็ได้ 
2. สถานพยาบาลสัตว์แบบมีที่พักสัตว์ป่วยค้างคืนเกิน 10 ที่ แน่นอนว่าบุคลากรต้องมีมากกว่า โดยจะต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่งเป็นผู้ให้บริการ ตลอดเวลาเปิดทำการ จำนวนอย่างน้อย 2 คน  มีผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่งเป็นผู้ดูแลสัตว์ป่วยที่รับไว้ค้างคืนตลอดเวลา จำนวนอย่างน้อย 1 คนและเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสมของจำนวนสัตว์ป่วยที่ต้องดูแลในสถานพยาบาลสัตว์นั้น  และอาจจะมีผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นสองด้วยก็ได้

คุณเจ้าของจะเห็นได้ว่า การจะเปิดสถานพยาบาลสัตว์แต่ละแห่งขึ้นมานั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะครับ ทั้งการขออนุญาต รวมทั้งการจัดสร้างสถานที่ และสรรหาบุคลากรให้ตรงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ยังไม่จบแค่นี้ครับ นี่แค่เรียกน้ำย่อย ยังมีเรื่องราวอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างระหว่างคลินิกกับโรงพยาบาลสัตว์ สิ่งต่าง ๆ ที่สถานพยาบาลสัตว์แต่ละแห่งต้องมี โดยเมื่อคุณเจ้าของเข้าไปรับบริการจะต้องสังเกตเห็นชัดเจน ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ชายหมอ(หมา) ไม่สามารถเล่าให้จบได้ภายในตอนเดียว ขออนุญาตยกยอดไปในตอนหน้าครับ สำหรับตอนนี้ก็ขอจบลงเพียงเท่านี้ก่อน อย่าลืมติดตามตอนถัดไปนะครับ จนกว่าจะพบกันใหม่ 

บทความโดย
อ. น.สพ. ดร.เศรษฐกิตย์ จิตเสนาะ
DVM, Ph.D.(Pathobiology)