Blog

บทความน่ารู้

การป้องกันโรคในแมว

สวัสดีครับคุณผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกับชายหมอ(หมา)ที่เว็บไซต์ Yippee Happy กันอีกเช่นเคยครับ 

ในบทความที่ผ่านมาชายหมอ(หมา) ได้เล่าถึงการป้องกันโรคในสุนัขไปแล้ว สำหรับบทความนี้จะมาเล่าถึงการป้องกันโรคในแมวบ้างนะครับ เดี๋ยวเหล่าทาสแมวทั้งหลายจะน้อยใจ...มาเริ่มกันเลยครั
 

1. การป้องกันปรสิตภายนอก

เริ่มต้นจากการป้องกันปรสิตภายนอกกันก่อน ปรสิตภายนอกที่สำคัญในแมว ที่เราต้องป้องกันนั้นพบบ่อย ๆ ได้แก่ หมัด ไร และแมลงชนิดอื่น ๆ 

แตกต่างจากสุนัขที่มักจะพบเห็บเป็นส่วนใหญ่ หมัดเป็นปรสิตภายนอกที่ดูดเลือด สร้างความรำคาญให้กับน้องแมวของเรา และนอกจากนี้ยังเป็นพาหะนำเชื้อโรคและพยาธิหลายชนิดมาสู่น้องแมว บางชนิดยังเชื่อว่าสามารถติดต่อสู่คนได้อีกด้วยครับ เช่น โรคไข้แมวข่วน (Cat Scratch Disease) เป็นต้น 

ปรสิตภายนอกอีกชนิดหนึ่งที่พบบ่อยในแมว คือตัวไร มักพบอยู่ในรูหูของน้องแมว ทำให้เกิดโรคช่องหูส่วนนอกอักเสบ และอาจติดเชื้อแทรกซ้อนลุกลามเข้าไปด้านในได้ น้องแมวที่มีตัวไรในหู จะแสดงอาการคัน และเกาอย่างรุนแรง บางตัวที่ชายหมอ(หมา) เคยเจอตอนทำงานที่โรงพยาบาลสัตว์ น้องแมวคันมาก เกาจนเลือดไหลเป็นแผลติดเชื้อเลยก็มีนะครับ น่าสงสารมากทีเดียว 

เห็นไหมครับว่าปรสิตภายนอกพวกนี้ร้ายกาจมาก ควรป้องกันให้ถูกวิธี โดยวิธีป้องกันมีตั้งแต่ การเลี้ยงในระบบปิดซึ่งอาจป้องกันได้บางส่วน แต่การขังไว้แต่ในห้องอาจทำให้น้องแมวเครียดได้ หรืออาจจะใช้วิธีอาบแชมพูกำจัดหมัดสำหรับแมว ยาหยดหลัง ไปจนถึงใช้ยาป้องกันชนิดกิน ก็มีให้เลือกใช้ แล้วแต่ความเหมาะสมและความสะดวกของเจ้าของสัตว์ครับ
 

2. การป้องกันปรสิตภายใน

มีปรสิตภายนอกแล้ว แน่นอนก็ต้องมีปรสิตภายใน เหล่าพยาธินั่นเองครับ โดยพฤติกรรมของน้องแมวที่ชอบออกไปเล่นซนนอกบ้าน อาจไปติดพยาธิมาจากแหล่งต่าง ๆ รวมถึงติดต่อผ่านหมัดได้ด้วยครับ 

วิธีการป้องกันก็สามารถทำได้ตั้งแต่การเลี้ยงระบบปิดเช่นกัน แต่จะยิ่งทำให้น้องแมวเครียด โดยเฉพาะหากเป็นฤดูผสมพันธุ์ จะร้องเสียงดังระงมกันลั่นบ้านเลยครับ เลือกวิธีที่ง่ายกว่านั้นดีกว่า คือ การใช้ยาถ่ายพยาธินั้นเอง มีทั้งแบบชนิดกิน โดยกินทุก 3 - 6 เดือน หรือใช้ผลิตภัณฑ์หยดหลัง กันปรสิตภายนอก ซึ่งบางยี่ห้อจะสามารถกำจัดพยาธิภายในทางเดินอาหารบางกลุ่มได้ด้วยครับ
 

3. การทำวัคซีน

โรคติดเชื้อโดยเฉพาะในกลุ่มเชื้อไวรัสในแมวนั้น มักเป็นโรคที่มีความรุนแรง รักษาค่อนข้างยาก จึงทำให้ในท้องตลาด มีวัคซีนแมวมากมายหลากหลายโรคให้เลือกฉีดกัน ตามแต่ความเสี่ยงของน้องแมวแต่ละตัว และสถานะทางการเงินของเจ้าของครับ บางบ้านอาจจะฉีดแค่วัคซีนพิษสุนัขบ้า หรือบางบ้านอาจจะเลือกฉีดวัคซีนทุกชนิดที่มีในท้องตลาด ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด เพราะน้องแมวแต่ละบ้านมีปัจจัยเสี่ยงที่แตกต่างกัน ชายหมอ(หมา) ขอแบ่งวัคซีนออกเป็นกลุ่ม ๆ คล้ายกับของสุนัข ได้แก่...

กลุ่มวัคซีนที่จำเป็นต้องฉีด (core vaccine) เช่น โรคไข้หัดแมว (feline panleukopenia ; FPV) โรคไข้หวัดแมวจากเชื้อ Feline Herpesvirus (FHV) โรคไข้หวัดเชื้อ Feline Calicivirus (FCV) และโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)

กลุ่มวัคซีนทางเลือก 
โดยเจ้าของเป็นผู้เลือกฉีดในรายที่มีความเสี่ยงดยวัคซีนบางชนิดอาจต้องมีการตรวจโรคนั้น ๆ ก่อนจึงจะฉีดได้ เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Feline Leukemia Virus; FeLV) โรคเอดส์แมว (Feline Immunodeficiency Virus; FIV) โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Feline Infectious Peritonitis; FIP) และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อ Chlamydophila felis และ Bordetella bronchiseptica เป็นต้น
 

4. การป้องกันเพิ่มเติมอื่นๆ 

อีกสิ่งหนึ่งที่เจ้าของน้องแมวควรให้ความสำคัญก็คือ เรื่องของขน ไม่เพียงแต่การให้ยา หรืออาหารที่มีส่วนผสมที่บำรุงขนเท่านั้น แต่พฤติกรรมการเลียทำความสะอาดขนตัวเอง (grooming) ก็ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน 

เมื่อน้องแมวเลียขนตัวเองเข้าไป ขนที่หลุดร่วงก็จะเข้าไปในทางเดินอาหาร สามารถทำให้เกิดภาวะก้อนขนอุดตัน น้องแมวท้องผูก ไปจนถึงไม่ขับถ่ายเลย ซึ่งเวลาเจ้าของพามารักษา น้องแมวบางตัวอาจโชคดีแค่ทานยาก็สามารถขับถ่ายก้อนขนออกมาได้ แต่บางตัวอาจต้องล้วงออกอย่างทรมาน หรืออาจถึงขั้นต้องผ่าตัดกันเลยทีเดียว ดังนั้นในบางครั้งอาหารหรืออาหารเสริมที่ช่วยขับก้อนขนออกมา ก็มีความจำเป็นโดยเฉพาะในน้องแมวขนยาว 

การให้อาหารเสริม หรือยาบำรุง เพื่อจุดประสงค์ในการป้องกันโรค กระตุ้นภูมิคุ้มกัน รวมถึง การใช้สารที่ออกฤทธิ์คล้ายฟีโรโมนเพื่อลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์บางอย่างในแมว ก็เป็นที่นิยม นอกจากนี้การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่าง ๆ ทั้งบนตัวแมว เช่น แชมพู หรือผลิตภัณฑ์ซักและทำความสะอาดของใช้ก็สามารถช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ ที่จะมาติดต่อน้องแมวของเหล่าทาสได้เช่นกันครับ.....

หวังว่าเหล่าทาสแมวทั้งหลายจะได้ประโยชน์จากเรื่องที่ชายหมอ(หมา) มาแบ่งปันในบทความนี้นะครับ ส่วนในตอนหน้าจะมีเรื่องอะไรมาแบ่งปันกันอีกนั้น รอติดตามตอนต่อไปที่เว็บไซต์ Yippee Happy กันนะครับ


บทความโดย
อ. น.สพ. ดร.เศรฐกิตย์ จิตเสนาะ
DVM, Ph.D.(Phatobiology)


ข้อมูลอ้างอิง 
WSAVA-Vaccination-Guidelines-2015