Blog

บทความน่ารู้

ผิวหนังของสัตว์เลี้ยงเเละคนมีอะไรเเตกต่างกันบ้าง

สวัสดีครับ....กลับมาพบกับชายหมอ(หมา) และ Yippee Happy กันอีกแล้วนะครับ
สำหรับบทความนี้เราจะมาคุยเรื่องผิวหนังกันต่อนะครับ (ยังไม่จบอีกหรา)

คุณเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกท่านเคยนึกสงสัยกันไหมครับว่า...ผิวหนังของน้องหมา น้องแมวที่เราเลี้ยงนั้น มีความเหมือนหรือแตกต่างจากผิวหนังของเราอย่างไร ?
ในผิวหนังของสัตว์เลี้ยง เเละคนนั้นมีความแตกต่างที่ดูด้วยตาเปล่า ก็สามารถบอกได้ว่าแตกต่างกันแน่นอนครับ แต่ถามว่าแตกต่างกันอย่างไร อันนี้เริ่มยากแล้วใช่ไหมครับ เรามาเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันนะครับ
ความแตกต่างระหว่างผิวหนังของสัตว์เลี้ยง เเละคน เบื้องต้นนั้นชายหมอขอยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมี 4 ข้อนะครับ
 


1. ต่อมเหงื่อที่ผิวหนัง
      

เจ้าของสัตว์หลายท่านอาจจะเคยได้ยินมาว่าน้องหมา หรือน้องแมวไม่มีต่อมเหงื่อที่ผิวหนังเลยไม่มีเหงื่อแบบในคน ซึ่งความเชื่อนี้ไม่ถูกต้องนะครับ แท้จริงแล้วน้องหมาน้องแมวของเรานั้นมีต่อมเหงื่อครับ เพียงแต่จำนวนของต่อมเหงื่อพวกนี้ไม่ได้เยอะ และกระจายอยู่ทั่วตัวแบบของคนนะครับ ยิ่งน้องแมวนี่ยิ่งมีต่อมเหงื่อน้อยมากครับ โดยต่อมเหงื่อของน้อง ๆ จะกระจายอยู่ที่บริเวณอุ้งเท้า ข้างริมฝีปาก มุมคาง และใกล้ ๆ รูก้น เท่านั้น จะเห็นว่าน้อยมาก ๆ 

ดังนั้นพอเวลาน้อง ๆ ของเราเกิดความร้อนในร่างกายขึ้น นอกจากจะระบายความร้อนโดยการอ้าปากหอบแล้ว การเลียตามอุ้งเท้า หรือเลียตามตัวก็ช่วยระบายความร้อนได้ด้วยครับ นอกจากนี้ ต่อมเหงื่อชนิด Apocrine gland ยังทำหน้าที่ผลิตสารที่เรียกว่า ฟีโรโมน ทำให้เกิดกลิ่นเฉพาะของน้องหมาน้องแมวแต่ละตัวอีกด้วยครับ



2. ความหนาของชั้นผิวหนัง

ความหนาที่ชายหมอหมายถึงในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงความหนาของผิวหนังทั้งหมดนะครับ เพราะโดยทั่วไปทั้งสัตว์เลี้ยง และคนเราจะมีความหนาของผิวหนังตั้งแต่ 0.5 - 5 มิลลิเมตร ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง รวมถึงอาจจะหนา หรือบางกว่านี้ได้แล้วแต่ชนิด หรือสายพันธุ์นะครับ

แต่สิ่งที่เราจำเป็นต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษก็คือ ความหนาของชั้น epidermis หรือหนังกำพร้านั่นเอง ผิวหนังชั้นนี้สำคัญอย่างไร มันเป็นด่านกั้น และปกป้องอันตรายของร่างกายจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น เชื้อโรคต่าง ๆ สารเคมี ความร้อน และป้องกันการสูญเสียน้ำ สารอิเล็กโตรไลท์ รวมถึงสารชีวโมเลกุลอื่น ๆ ออกนอกร่างกาย นั่นเองครับ 

จากการศึกษาพบว่าผิวหนังชั้น epidermis ในสุนัข และแมวจะมีความหนาอยู่ที่ประมาณ 3 - 5 cells ในขณะที่ผิวหนังของคนเรานั้นมีมากถึง 10 - 15 cells (ตัวเลขดังกล่าวไม่ตรงกันในหลาย ๆ ตำรานะครับ บางตำราเขียนว่า ในสัตว์ 8-10 cells แต่ในมนุษย์ 18-20 cell แต่เอาเป็นว่าอย่างไรเสียในสัตว์ก็บางกว่าในคนอยู่ดีครับ)

นอกจากนี้ระยะเวลาในการผลัดเซลล์ผิวของสัตว์ก็สั้นกว่าอยู่ที่ประมาณ 22 วัน ในขณะที่คนอยู่ที่ 28 วัน ซึ่งความบางของชั้นหนังกำพร้าและระยะเวลาผลัดเซลล์ผิวที่สั้นกว่านี้ เป็นตัวชี้วัดที่ดีมากที่ทำให้เราทราบว่า ผิวหนังของสุนัขและแมวนั้นอ่อนแอ และมีความไว (sensitive) ต่อการระคายเคืองหรือการถูกทำลายมากกว่าผิวหนังของคนเรานั่นเองครับ

 


3.  ค่า PH ของผิวหนัง    

ค่า pH เป็นค่าที่บ่งบอกความเป็นกรด-ด่าง มีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 14 ผิวหนังของเราก็มีค่า pH นี้เช่นกัน เกิดจากสารที่หลั่งออกมาบนผิวหนังทำปฏิกริยากัน โดยสภาพผิวหนังปกติของคนจะมีค่า pH เท่ากับ 5.5 คือมีความเป็นกรดอ่อน ๆ แต่ในสัตว์นั้นจะมีค่า pH ของผิวหนัง อยู่ที่ประมาณ 7.0 - 7.52 นั่นคือ มีความเป็นกลาง หรือมีความเป็นด่างเล็กน้อย เห็นตัวเลขแล้ว คุณเจ้าของสัตว์เลี้ยงอาจจะคิดว่า มีค่า pH ต่างกันนิดหน่อยเอง แค่ 1.5 เท่านั้น แต่ไอ้นิดหน่อยที่ว่านี่แหละครับ ความเป็นจริงคือ ค่าความความเข้มข้นของกรด (H+) นั้นต่างกันเป็นร้อยเท่าเลยนะครับ เริ่มเห็นความแตกต่างแล้วใช่ไหมครับ เดี๋ยวในบทความหน้าชายหมอ(หมา) จะมาอธิบายเพิ่มถึงความน่าสนใจในความแตกต่างนี้ครับ


 



 

4. การผลัดขน

การผลัดขนเป็นกลไกธรรมชาติที่สำคัญในวัฏจักรการเจริญเติบโตของขน โดยเชื่อว่าเป็นวิวัฒนาการอย่างหนึ่งเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล หรือถิ่นที่อยู่ 

ซึ่งการผลัดขนนี้พบในสัตว์หลายชนิดรวมถึงสุนัข และแมวบางสายพันธุ์แต่การผลัดขนดังกล่าวนี้ไม่พบในคน 
โดยการเจริญของเส้นขน (เช่น ผม) ในคนนั้นจะเป็นการเจริญแบบเส้นเดี่ยว ๆ และมีการเจริญแบบต่อเนื่องซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตัดแต่งเพื่อไม่ให้ยาวจนเกินไป 

ลักษณะการเจริญของเส้นขนแบบนี้มีความคล้ายคลึง และสามารถพบได้ในสุนัขบางสายพันธุ์ เช่น Poodle แต่ในขณะที่สุนัขอีกหลายสายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์ที่มีกำเนิดในเขตพื้นที่หนาวเย็น เส้นขนจะมีวัฏจักรการผลัดขน โดยเมื่อมีการเจริญเติบโตจนถึงความยาวระดับหนึ่ง เส้นขนจะหยุดเจริญเติบโต ตาย และหลุดร่วงออกไปเอง น้องหมา น้องแมว ก็จะขนบางลงอย่างเห็นได้ชัดเลยเชียวครับ
 

ความแตกต่างทั้ง 4 ข้อที่ชายหมอ(หมา) เล่าให้ฟังนี้เป็นเพียงแค่ความแตกต่างเบื้องต้นเท่านั้นนะครับ ถ้าจะเอาให้ละเอียดนี่อาจจะต้องลงไปลึกถึงระดับพันธุกรรมเลยทีเดียว แต่เอาเป็นว่าข้อมูลเพียงเท่านี้ ก็มากพอที่จะเป็นแนวทางให้คุณเจ้าของทั้งหลายเข้าใจ และนำไปปรับใช้ในการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงแสนรักของเราแล้วครับ
สำหรับบทความนี้ชายหมอ (หมา) ต้องขอลาไปก่อนนะครับ


บทความโดย
อ. น.สพ. ดร.เศรฐกิตย์ จิตเสนาะ
DVM, Ph.D.(Phatobiology)